ZUPPORTS 101 :ใบตราส่ง หรือ Bill of Lading เอกสารที่คนทำผิด ต้องถูกลงโทษตัดมือในสมัยโบราณ !!!!

ใบตราส่ง

ZUPPORTS 101 :ใบตราส่ง หรือ Bill of Lading

เอกสารที่คนทำผิด ต้องถูกลงโทษตัดมือในสมัยโบราณ !!!!

.

คำว่าเอกสาร Bill of Lading นั่น เชื่อว่าหลายคนในแวดวงการนำเข้า-ส่งออกจะต้องรู้จักกันดีและได้จับกันทุกวัน (เว้นแต่ว่าช่วงที่งานน้อย อาจจะได้จับไม่บ่อย และจะดูเหงาหน่อยๆ) รวมถึง เชื่อว่าหลายคนที่อยากรู้จักเอกสารตัวนี้ เมื่อไปทำการค้นหาในโลกออนไลน์ จะได้รู้เพิ่มอีกหน่อยว่า Bill of Lading คือใบตราส่ง !!!

.

ซึ่งเรารู้ว่า หลายคนก็ยังสงสัยอีก ว่าอะไรคือใบตราส่ง ??? ถ้าอย่างนั้น วันนี้ เรามาลองมาทำความรู้จัก กับเจ้าเอกสารใบตราส่ง หรือ Bill of Lading ที่ใครๆเขาบอกกัน ในรูปแบบที่ย่อยง่าย ตามแบบฉบับของพวกเรา ชาว ZUPPORTS กันเล้ย !!!

.

Bill of lading หรือใบตราส่งเรือนั้น ถือกำเนิดเกิดขึ้น ที่ภูมิภาคยุโรป เมื่อช่วงศตวรรษ ที่ 13- 15 ซึ่งในช่วงเวลานั้น ชาติมหาอำนาจในการขนส่งสินค้าทางทะเล อย่าง สเปน, อิตาลีและ ฝรั่งเศส ในช่วงเวลานั้น ต่างปวดหัวเป็นอย่างมาก กับปัญหาจำนวนสินค้าและชนิดของสินค้าที่ขนส่งนั้น ไม่ตรงกันระหว่างต้นทางและปลายทาง รวมถึงการส่งผิดที่หมาย

.

ดังนั้น เหล่าบริษัทเดินเรือ หรือพ่อค้าในสมัยนั้น จึงได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อร่างเป็นกฎระเบียบในการขนส่งสินค้าทางเรือขึ้น รวมถึง มีการแต่งตั้งตำแหน่งที่คล้ายกับเสมียน เพื่อจดและทำบันทึกรายการขนถ่ายสินค้าขึ้นเรือพร้อมประทับตรารับรอง โดยที่จะมีเพียงแค่ตัวเสมียนและเจ้าของเรือเท่านั้น ที่สามารถครอบครองบันทึกรายการสินค้าเหล่านี้รวมถึงประทับตราของบริษัทเดินเรือ

.

ซึ่งแต่เดิมนั้น บันทึกข้อมูลรายการสินค้าเหล่านี้ ไม่ได้ลงแบบละเอียดมากนักและข้อมูลที่ระบุนั้น ยังไม่ค่อยครบถ้วน จวบจนกระทั่งวันเวลาผ่านไป เริ่มมีตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางเรือมากขึ้น รูปร่างหน้าตาของบันทึกรายการสินค้าจึงเริ่มปรับปรุงเป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

.

คำว่า ประเภทของ B/L นั้น หลายคนที่ไปค้นหาจากโลกอินเตอร์เน็ตหรือโลกออนไลน์ จะเข้าใจว่า เอกสาร Bill of Lading มีเพียงไม่กี่ประเภท คือ Original B/L, Surrender B/L, Sea Waybill, Master B/L, House B/L เท่านั้น

หากแต่ แท้ที่จริงแล้ว บนโลกของเราใบนี้ มีการจัดแบ่ง B/L มากถึง 12 -15  ประเภท มิได้มีเพียง 4 หรือ 5 ประเภท อย่างที่โลกออนไลน์เขากล่าวอ้างกันมา !!!

.

ซึ่งโดยความจริงแล้ว คำว่า Original B/L, Surrender B/L, Sea Waybill นั่น แท้ที่จริงไม่ได้ถูกนับเป็นประเภทของเอกสาร  หากแต่เป็นการเรียกและพูดถึงสถานะของเอกสาร ในการสั่งปล่อย !!! ซึ่งมันยังมีเพื่อนอีกหลายคน หลายชื่อ อย่าง Express Bill of Lading !!!

.

ทั้งนี้ การแบ่งประเภทของเอกสาร B/L  นั้น ขึ้นอยู่กับบริบทต่างๆ เช่น กระบวนการดำเนินการ,วัตถุประสงค์การใช้งาน รวมไปถึงรูปแบบการขนส่งและการทำธุรกรรม ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอันใด หากเวลาที่เราไปถามผู้รู้หรือเหล่าอาจารย์ ในแต่ละสำนัก หรือแต่ละสถาบัน แต่ละอาจารย์ ทุกคนจะบอกจำนวนหรือชื่อประเภท หรือชนิดของเอกสาร B/L  ที่แตกต่างกันออกไป

.

ใบตราส่ง หรือ Bill of Lading นั่น ไม่ต่างจากเอกสารใบรับสินค้า ที่ทางผู้รับขนส่งหรือเจ้าของเรือ ทำการออกให้กับผู้ขนส่งสินค้าที่ต้นทาง เพื่อเป็นการรับทราบและรับรองว่า ได้ทำการรับขนส่งเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงข้อตกลงต่างๆ ในการขนส่งสินค้าเหล่านี้ไปยังผู้รับหรือผู้รับโอน ณ ปลายทางที่ระบุ

.

ดังนั้น รายละเอียดหรือสาระสำคัญที่จะต้องระบุและปรากฏอยู่บนเอกสาร จึงเป็นข้อมูลต่างๆ ของผู้ส่งสินค้าและผู้รับสินค้า รวมถึงรายละเอียดของสินค้าที่ขนส่ง คล้ายกับเวลาที่เรานำสินค้าส่งฝากไปกับรถทัวร์ให้ญาติที่ต่างจังหวัด

.

หากแต่ ใบตราส่ง หรือ Bill of Lading เป็นเอกสารที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าใบส่งของรถทัวร์ ตรงที่ จะไม่มีวันออกชุดเดิมเป็นครั้งที่สอง หรือหากมีเหตุจำเป็นที่ออกเอกสารสองครั้ง หมายเลขของเอกสาร หรือ B/L Number ก็จะมีการเปลี่ยนไป ไม่มีทางเป็นเลขเดิม หรือในบางสายการเดินเรือสามารถออกเป็นหมายเลขเดิมได้ หากแต่ก็จะทำการเติมตัวอักษรต่อท้าย เพื่อให้แตกต่างจากของเดิม

.

ดังนั้น ใบตราส่งสินค้าทางเรือ จงเรียกได้ว่าเป็นเอกสารที่หนึ่งชุดจะออกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพื่อป้องกันการผิดพลาดในการปล่อยสินค้าที่ปลายทาง ลองนึกภาพ จะเกิดอะไรขึ้น ในกรณีที่มีคนสองคน ถือเอกสารสองชุด ที่มีหมายเลขเอกสารและเนื้อหา ข้อความเหมือนกันทุกประการมาติดต่อทำการปล่อยสินค้าที่ท่าเรือปลายทาง ???

.

 

.

โดย ใบตราส่งสินค้า หรือ B/L ที่อยู่ในสถานะ Original B/L ใน 1 ชุด หรือ ที่เรียกกันว่า Full Set  นั้น จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ

1.หน้าใบต้นฉบับ หรือ Original Page เป็นจำนวน 3 ใบ ซึ่งมีจุดสังเกต คือ ต้องตีตราประทับและลงนามหรือลายเซ็นสด หรือหากกรณีที่เอกสารไม่จบในแผ่นเดียวและมีหน้าต่อ หรือ Attached Sheet จะต้องมีแผ่นต่อครบคู่ด้วยเสมอ

2.หน้าใบสำเนา หรือ Copy Page เป็นจำนวนตั้งแต่ 3 – 6 ใบ ขึ้นกับแต่ละสายการเดินเรือหรือแต่ละบริษัท

3.หน้าใบรับรองสำเนา หรือ Certify True Copy Page จำนวน 2 – 3ใบ

และ การที่เราต้องการจะทำการ เปลี่ยนสถานะของเอกสารให้เป็น Surrender ได้นั้น ก็เพียงแค่นำเอกสารในข้อที่ 1. มาทำการสลักหลัง โดยการประทับตราพร้อมเซ็นชื่อ และนำกลับไปคืนให้กับสายการเดินเรือ หรือ บริษัทรับขนส่ง พร้อมจ่ายเงินค่า Surrender Fee เว้นแต่ว่า คุณต้องไปขอเซลล์ให้ฟรี !!!

.

Tips กรณีทำเอกสารหาย นับเป็นเรื่องใหญ่มาก ถือเป็นฝันร้ายของคนทำงาน ระดับ 7 กะโหลก เนื่องจากความวุ่นวายในการแก้ปัญหา ซึ่งบ่อยครั้ง ที่ความศักดิ์สิทธิ์ของ Bill of Lading มักสำแดงปาฏิหาริย์ออกมา ด้วยการที่ลูกค้าหาเอกสารเจอทันที เมื่อเราแจ้งว่าต้องทำ Bank Guarantee !!!

.

Tips ในโลกธุรกิจการขนส่งทางเรือในยุคสมัยยุโรปกลางนั้น โทษของเสมียนที่ทำบันทึกรายการสินค้าผิด หรือปลอมแปลงเอกสาร คือการตัดมือและเอาเหล็กเผาไฟนาบตรงหน้าผาก (ซึ่งหากกฎนี้บังคับใช้ในปัจจุบัน แอดคงไม่ได้มานั่งเขียนให้อ่าน)

.

=========================

ไม่พลาดทุกข่าวสาร วงการขนส่งระหว่างประเทศ นำเข้า ส่งออก เข้าร่วมกลุ่มที่ https://bit.ly/3seJRLk

=========================

 

ZUPPORTS ควบคุมต้นทุนขนส่งผ่านระบบเปรียบเทียบราคาเฟรทออนไลน์

สนใจลงทะเบียนทดลองใช้งานฟรี ที่ www.ZUPPORTS.co/register

 

 

ข่าวสารอื่นๆ