[Freight Weekly] :อัพเดตสถานการณ์ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ประจำวันที่ 8- 12 มกราคม 2567 กับ ZUPPORTS !!!
สัปดาห์ที่แสนชุลมุน เตรียมรับมือคลื่นยักษ์ที่ถาโถมจากวิกฤติทะเลแดง !!!
.
กลับมาพบกันเป็นประจำกับพวกเรา ZUPPORTS ในทุกวันเริ่มต้นการทำงานของสัปดาห์ กับการรายงานข่าวสาร ความเคลื่อนไหว รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวพวกเราในแวดวงการนำเข้าส่งออก ภาคการขนส่งสินค้าทางเรือประจำสัปดาห์ในรูปแบบที่ย่อยง่าย เหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง
.
โดยสัปดาห์นี้ นับเป็นสัปดาห์ที่ 2 ประจำปี 2567 ซึ่งไม่น่าเชื่อ และไม่มีใครคาดว่า เพียงแค่สัปดาห์ที่ 2 ของปีเท่านั้น พวกเราต้องเจอและ ต้องรับมือกับเรื่องราวต่างๆมากมาย ที่โหมโถมกันเข้ามาตั้งแต่ต้นปี
.
ซึ่งวิกฤติที่ทะเลแดงในครั้งนี้ ดูจะหนักหนาสาหัสไม่แพ้ หรือน้องๆวิกฤติที่พวกเราต้องประสบกันในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทั้งไม่ว่าเรื่องของพื้นที่ระวางขนส่ง ที่มีค่อนข้างจำกัดอย่างมาก รวมถึง ระยะเวลาในการขนส่งที่นานขึ้น จากการที่เรือสินค้า มีการเปลี่ยน เลี่ยงเส้นทาง
.
และเรื่องของอัตราค่าระวางขนส่ง หรือ Sea Freight Rate ที่ในหลายเส้นทางหลัก กลับมาอยู่ในทิศทางขาขึ้น แบบที่เรียกว่า เป็นการเชิดหัวขึ้นแนวดิ่งเสียด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่พวกเราต้องคอยติดตามดูกันแบบวันต่อวัน สำหรับสถานการณ์เช่นนี้
.
และเมื่อทุกท่านพร้อมกันแล้ว ตามพวกเรา มาอัพเดทกันทีละประเด็นกันเลย !!
.
=========================
ZUPPORTS ช่วยผู้นำเข้าส่งออก หา Space
เปรียบเทียบราคาและบริการ Freight ทั้งทางทะเล ทางอากาศ ทางบก และทางรถไฟ
ด้วยพันธมิตรผู้ให้บริการขนส่ง มากกว่า 30 บริษัท
ลงทะเบียนทดลองใช้งานได้ที่
=========================
1) สถานการณ์ของ Sea Freight Shipment หรือ งานขนส่งสินค้าทางทะเล Allocation Space มีค่าเป็นทองอีกครั้ง !!
.
เปิดประเด็น เริ่มต้นสัปดาห์กันที่ สถานการณ์ของงานขนส่งสินค้าทางเรือ หรือ Sea Freight Shipment ซึ่งเข้าสู่ภาวะที่ค่อนข้างชุลมุนกันตั้งแต่ในช่วงต้นปี เนื่องจาก สถานการณ์วิกฤติที่ทะเลแดง ซึ่งกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ที่มีผลต่อภาพรวมของทั้งกระดาน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ระวางขนส่ง หรือ Allocation Space และเส้นทางการขนส่ง หรือ Service Routing
.
ภาพรวมในช่วงเวลานี้ เรียกว่า ไม่มีเส้นทางไหน ที่จองเรือง่ายเลย เนื่องจาก พื้นที่ระวางขนส่งที่เต็มแน่น หลายเส้นทาง ปิดรับการจองเรือไปจนถึงสิ้นเดือนเป็นที่เรียบร้อย ประกอบกับผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย ถูกบางสายการเดินเรือ หรือตัวแทนรับขนส่ง ทำการคว่ำบุ๊คกิ้งยืนยันการจองที่มีในมือ หรือ Force Cancel แบบกะทันหัน ในเส้นทางขนส่งที่ตกเป็นประเด็นและได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่ทะเลแดง
.
จึงทำให้พื้นที่ระวางขนส่งที่เหลือในท้องน้ำของสายการเดินเรือต่างๆ เต็มแน่นไปโดยปริยาย อย่าง ในเส้นทางที่ขนส่งจากภูมิภาคเอเชียไปยังภูมิภาคยุโรปตอนเหนือและยุโรปตอนล่าง หรือ Asia- North Europe / Mediterranean รวมถึง เส้นทางที่ขนส่งไปยังภูมิภาคทะเลแดง หรือ Asia- Red Sea Trade
.
และแม้แต่ เส้นทางที่ขนส่งภายในภูมิภาคเอเชียเอง หรือ Intra- Asia Trade ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่หลายสายการเดินเรือเข้าสู่ภาวะที่ตู้สินค้าขาดแคลน หรือพื้นที่ระวางขนส่งในบาง Loop ที่มีจำกัด จึงทำให้เจอกับภาวะที่จองเรือยากเช่นกัน
.
ภาพรวมการหมุนเวียนของตู้สินค้าในหลายพื้นที่เข้าสู่ภาวะที่ค่อนข้างตึง หรือในบางพื้นที่เข้าสู่ภาวะขาดแคลนอีกครั้ง เนื่องจาก วงจรการหมุนเวียนของตู้สินค้า ที่ยาวนานและขาดช่วง โดยวิกฤติในทะเลแดงที่เกิดขึ้น กลายมาเป็นปัจจัยหลักใน
การสะดุดของวงจรหมุนเวียนของตู้
.
ในขณะที่ภาพรวมของการหมุนเวียนในบ้านเรา หลายสายการเดินเรือ โดยเฉพาะในกลุ่มสายการเดินเรือขนาดกลางลงมา ยังคงถือว่าทำได้คล่องตัว ในขณะที่กลุ่มสายการเดินเรือขนาดใหญ่ เริ่มที่จะเข้าสู่ภาวะตึงมือขึ้นเรื่อยๆในทุกสัปดาห์ เนื่องจากตู้สินค้าจำนวนมาก ยังคงติดและตกค้างอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ รวมถึง ติดตกค้างบนเรือสินค้า
.
รวมถึง สภาพของตู้สินค้าที่หมุนเวียน ปล่อยในระบบ ยังคงถือว่าไม่ค่อยเป็นที่พอใจเท่าไร โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าประเภทอาหารและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
.
ซึ่งหากสถานการณ์ และภาพรวมของทะเลแดง ยังคงยืดเยื้อและยาวนาน ในช่วงเวลา 2 –3 สัปดาห์ต่อจากนี้ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนที่รุนแรงยิ่งขึ้น
.
*******
2) สถานการณ์ความเสถียรของตารางเดินเรือ สายเส้นทาง วิ่งนานขึ้น วิ่งไกลขึ้น และอาจไม่มีรอบเรือ !!!
.
ด้านความนิ่งของตารางเดินเรือขนส่งสินค้า หรือ Vessel Schedule ในหลายเส้นทางยังอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างปั่นป่วน ไม่มีคำว่าแน่นอน หรือตรงเวลาสักเท่าไร ในหลายเส้นทาง ยังต้องเจอกับภาวะความล่าช้า หรือ Delay Onboard/ Delay Arrival รวมถึงการที่เรือข้าม ไม่เข้าในบางท่าเรือ หรือ SKIP Call/ OMIT
.
ทั้งนี้ สาเหตุหลัก มาจากระยะเวลาในการเดินทาง ที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่สายการเดินเรือ มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางในการเดินเรือขนส่ง โดยการเลี่ยงที่จะผ่านในเส้นทางทะเลแดง หรือ Red Sea และคลอง Suez Canal และไปใช้เส้นทางขนส่งที่ไกลขึ้น นั่นก็คือการอ้อมผ่านแหลม Good Hope ของประเทศ South Africa
.
ส่งผลให้ ตางรางเดินเรือบิดเบี้ยงและรวนทั้งเส้นทาง เนื่องจาก เรือสินค้าเหล่านี้ไม่สามารถกลับเข้ารอบเรือของตนเองได้ทัน โดยเฉพาะในเส้นทางขนส่งหลัก ระหว่างภูมิภาคเอเชียกับยุโรปตอนเหนือ หรือ Asia- North Europe
.
รวมถึง ในเส้นทางระหว่างภูมิภาคเอเชียกับภูมิภาคยุโรปตอนล่าง หรือ Asia- Mediterranean และในเส้นทางระหว่างภูมิภาคเอเชียกับภูมิภาคอเมริกาเหนือฝั่งตะวันออก หรือ Asia- North America East Coast
.
ทางด้านการยกเลิกรอบเรือ ประกาศตารางเรือว่าง หรือ Blank Sailing ในรอบสัปดาห์นี้ มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า จากการที่ กลุ่มสายการเดินเรือขนาดใหญ่ ยังคงเลือกที่จะยกเลิกเที่ยวเรือในเส้นทางหลัก และมีการเพิ่มการยกเลิกรอบเรือโดยเฉพาะ ในเส้นทางที่ขนส่งไปยังภูมิภาคยุโรปตอนล่าง และภูมิภาคทะเลแดง หลังวิกฤติที่รุนแรงขึ้นในตะวันออกกลาง
.
ทั้งนี้ ในช่วงตั้งแต่ สัปดาห์ที่ 2 ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 6 ของปี 2024 หรือในช่วง 5 สัปดาห์นับจากนี้ ทุกสายการเดินเรือ มีการประกาศตารางเรือว่าง หรือ Blank Sailing ในเส้นทางการขนส่งหลัก รวมกันอย่างน้อย 78 เที่ยวเรือ หรือคิดเป็น ร้อยละ 12 จากจำนวนทั้งหมด 650 เที่ยวเรือ !!!
.
โดยในช่วง 5 สัปดาห์ จากนี้ เส้นทางที่ถูกยกเลิกรอบเรือมากที่สุด จะเป็นในเส้นทางการขนส่ง จาก ภูมิภาคยุโรปไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ในรอบเรือ Transatlantic Westbound คิดเป็นร้อยละ 46
ตามด้วย เส้นทางการขนส่งจาก ภูมิภาคเอเชียไปยังภูมิภาคยุโรปตอนเหนือและยุโรปตอนล่าง หรือ Asia- North Europe/ MED ซึ่งคิดเป็น ร้อยละ 37 และ ในเส้นทางการขนส่ง จากภูมิภาคเอเชียไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ในรอบเรือ Transpacific Eastbound ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 17 !!
.
**************
3) สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางเรือ ในหลายเส้นทางหลัก ที่เกี่ยวข้องกับทะเลแดง ปรับขึ้นยกกระดาน!!!
.
ด้านสถานการณ์ทิศทางของค่าระวางขนส่งสินค้าทางเรือ หรือ Sea Freight Rate ในหลายเส้นทางหลัก กลับมาอยู่ในทิศทางขาขึ้นอีกครั้ง และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในลักษณะที่เป็นการก้าวกระโดดที่ค่อนข้างแรง โดยเฉพาะ ค่ะระวางขนส่งในเส้นทางที่ต้องผ่านเส้นทางที่เป็นแนวสู้รบหรือเส้นทางพิพาทขัดแย้ง
.
อย่าง ในเส้นทางที่ขนส่งไปยังภูมิภาคยุโรปตอนเหนือและยุโรปตอนล่าง หรือ North Europe Trade / Mediterranean Trade รวมถึง ค่าระวางในเส้นทางที่ขนส่งไปยังภูมิภาคทะเลแดงเอง หรือ Red Sea Trade โดยสายการเดินเรือส่วนใหญ่ ทำการปรับค่าระวางในลักษณะแบ่งเป็นสองช่วง สองระยะ คือ หลัง 15 มกราคม และ หลัง 1 กุมภาพันธ์
.
ขณะเดียวกัน เริ่มเห็นสัญญาณ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่ะรวางขนส่ง ในเส้นทางที่เกี่ยวข้อง หรือ เป็นเส้นทางต่อเนื่องจากเส้นทางหลักที่กล่าวข้างต้น อย่าง ในเส้นทางที่ขนส่งไปยังภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกกลาง หรือ South Asia and Middle East
.
ทั้งนี้เนื่องจาก ตัวแทนรับขนส่งสินค้าจำนวนไม่น้อย ในกลุ่มที่เป็น Freight Forwarder และกลุ่มที่เป็น NVOCC BOX Operator เริ่มที่จะมีการใช้เส้นทางเลี่ยง โดยทำการขนถ่ายต่อเนื่องในลักษณะที่เป็น Sea-Air หรือ Sea-Land โดยใช้ตัวแทนหรือ Oversea Agent ของตนเองในภูมิภาคดังกล่าว ทำการขนส่งต่อเนื่องจากในขาที่สอง
.
ทางด้านดัชนีค่าระวางขนส่งสินค้าทางเรือ ในรอบสัปดาห์นี้ กลับมาอยู่ในระดับที่เรียกว่าร้อนแรงขึ้นขั้นระอุ เมื่อเทียบกับดัชนีในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็เนื่องจาก สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในทะเลแดง หลายสายการเดินเรือ ต่างทำการปรับเปลี่ยนเส้นทางในการเดินเรือขนส่ง ในขณะที่ความต้องการในภาคขนส่งที่ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง
.
โดยในหลายเส้นทางขนส่ง หลายสายการเดินเรือ มีการปิดรับการจองเรือและมีการยกเลิกบุ๊คกิ้งยืนยันการจองเรือ ส่งผลให้ภาพรวมของดัชนีค่าระวางขนส่งในหลายเส้นทางหลัก จึงมีการปรับตัวแบบก้าวกระโดด โดยดัชนีค่าระวางในรอบสัปดาห์ มีการปรับตัวขึ้นอีกครั้ง คิดเป็นร้อยละ 61 เมื่อเทียบจากสัปดาห์ก่อน มาปิดอยู่ที่ USD 2,670 per 40’GP
.
ทั้งนี้ ดัชนียังถือว่าเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็น ร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รวมถึง ยังคงยืนอยู่ในจุดที่สูงกว่า ดัชนีค่าระวางเฉลี่ยเมื่อปี 2019 หรือ ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสอีกครั้ง โดยสูงกว่าคิดเป็น ร้อยละ 88 ซึ่งค่าเฉลี่ยในช่วงเวลานั้นอยู่ที่ USD 1,420 per 40’GP
.
==================
สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากเช็คแนวโน้มราคาเฟรท ทางทะเล ย้อนหลัง 3 เดือน แยกไปแต่ละเส้นทางขนส่ง ก็สามารถ ลองเข้าไปเช็คกันได้เลยที่ https://zupports.co/our-services/
.
หรือหากอยากดูราคาเฟรท ในเดือนล่าสุด ก็ลงทะเบียน แบบ premium กันได้เลยที่ https://zupports.co/register/
==================
.
************
4) ด้านสถานการณ์ความหนาแน่นของท่าเรือหลักทั่วโลก หลายท่าเรือหลักปั่นป่วนตั้งแต่ต้นปี !!!
.
สุดท้าย ปิดท้ายกันที่ภาพรวมของท่าเรือหลักทั่วโลก ที่ดูจะเข้าสู่ช่วงเวลาที่ค่อนข้างหนาแน่นอีกครั้ง ปัญหาส่วนใหญ่ที่หลายท่าเรือต้องประสบคือ การที่ต้องรับมือกับภาวะที่เรือสินค้ามีการเข้าเทียบท่าในลักษณะที่กระจุกตัว ในเวลาไร่เรี่ยกัน ประกอบกับ ภาวะความต้องการสินค้าในหลายหมวดหมู่ที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวต้นปีและก่อนเทศกาลตรุษจีน
.
รวมถึงในบางท่าเรือ ที่ต้องรับมือกับภาวะสภาพอากาศที่แปรปรวน ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ราบรื่นและต้องปิดท่าเรือเป็นระยะ ส่งผลให้เกิดปัญหาตู้สินค้าสะสมในท่าและจำนวนเรือสินค้าที่รอเข้าเทียบท่าเพื่อการขนถ่าย
.
ด้านภาพรวมท่าเรือหลักในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ประตูหลักในฝั่งตะวันออก หรือ US East Coast อย่าง USNYC, USORF, USSAV, USCHS ยังคงอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างตึงมือ ทั้งจากตู้สินค้าที่ไหลผ่าน และจำนวนเรือสินค้าที่รอเทียบท่า ซึ่งมีจำนวนและปริมาณเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากสินค้าที่หนีปัญหาภัยแล้งที่คลองปานามา
.
ทางด้านท่าเรือในฝั่งตะวันตก หรือ US West Coast หลายท่าเรือหลัก อย่าง USLAX, USLGB, USOAK, USTIW, USSEA อยู่ในภาวะที่ค่อนข้างทรงตัว โดยส่วนใหญ่ ยังคงประสบกับภาวะความหนาแน่นของท่าเรือ จากจำนวนตู้สินค้าที่เต็มแน่นในพื้นที่ท่าเรือ เนื่องจาก ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ภาคขนส่ง อย่างแคร่รถไฟ ส่งผลให้เรือสินค้าเกิดปัญหาความล่าช้าในการเข้าเทียบท่าขนถ่าย อยู่ที่ 2 -4 วัน
.
ทางด้านท่าเรือหลักในภูมิภาคยุโรป 3 ประตูหลัก อย่าง NLRTM, BEANR, DEHAM อยู่ในภาวะทรงตัว และค่อนข้างผ่อนคลายลง เนื่องจากเรือสินค้าจำนวนมาก มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางขนส่งที่อ้อมไกลขึ้น และกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่เดินทาง
.
หากแต่ ในช่วงเวลา ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะที่ตึงมืออีกครั้ง เนื่องจาก เรือสินค้าที่มีการเปลี่ยนเส้นทาง จะเริ่มทยอยเดินทางถึงท่าเรือหลักในยุโรป ประกอบกับท่าเรือหลัก อย่าง DEHAM อาจต้องรับมือกับภาวะนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานท่าเรือ หากการเจรจาไม่ได้ข้อตกลง
.
กลุ่มท่าเรือหลักในภูมิภาคเอเชีย หลายท่าเรือหลักของประเทศจีน อยู่ในภาวะที่ค่อนข้างตึงมือ จากความหนาแน่นของตู้สินค้า และจำนวนเรือสินค้าที่รอเข้าเทียบ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาคลื่นลมแรง ท่าเรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามภาวะปกติ อย่าง CNSHA, CNNGB, CNTAO, CNTXG รวมถึง ท่าเรือของประเทศเกาหลีใต้ อย่าง KRPUS ที่ประสบกับปัญหาความหนาแน่นเช่นกัน ส่งผลเรือสินค้าเกิดปัญหาความล่าช้า อย่างน้อย 2 -5 วัน
.
ทางด้านสถานการณ์ของกลุ่มท่าเรือที่เป็นจุดถ่ายลำหลัก SGSIN, MYPKG ,HKHKG ยังตกอยู่ในภาวะที่ตึงมือ จากปัญหาความหนาแน่นของพื้นที่วางตู้ในท่า บวกกับสถานการณ์ความไม่นิ่ง และขาดช่วงความถี่ของรอบเรือแม่ ที่จะมาเก็บตู้ที่รอขนถ่าย รวมถึง ต้องรับมือกับภาวะที่เรือสินค้าเข้ามาในลักษณะกระจุกตัว หรือเข้าถึงพร้อมกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาคือ ปัญหาความล่าช้าในการปฏิบัติงาน อย่างน้อย 2 -3 วัน
.
******************
.
ที่กล่าวมานั้น คือการสรุปข่าวสาร ความเคลื่อนไหว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแวดวงการนำเข้า-ส่งออก ภาคการขนส่งสินค้าทางเรือประจำสัปดาห์ ที่พวกเราหมายใจอย่างยิ่ง จะให้เป็นประโยชน์ ต่อท่านผู้ประกอบการและท่านผู้ติดตามทุกท่าน ในการวางแผนการทำงาน และสามารถรับมือกับทุกอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นได้ครับ
.
สัปดาห์นี้ขอลาไปก่อน ขอบุญรักษาทุกท่าน และขอสันติสุข จงมีต่อโลกของเรา สวัสดีครับ
.
CR : PIC by Kees Torn
.
=========================
ไม่พลาดทุกข่าวสาร วงการขนส่งระหว่างประเทศ นำเข้า ส่งออก
เข้าร่วมกลุ่มที่ https://bit.ly/3seJRLk
=========================