[Freight Weekly] : อัพเดตสถานการณ์ขนส่งระหว่างประเทศ ประจำวันที่ 5-9 กันยายน 2565 กับ ZUPPORTS การขนส่งทางทะเลเริ่มคลี่คลาย? แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง!!

[Freight Weekly] : อัพเดตสถานการณ์ขนส่งระหว่างประเทศ ประจำวันที่ 5-9 กันยายน 2565 กับ ZUPPORTS

การขนส่งทางทะเลเริ่มคลี่คลาย? แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง!!

.

กลับมาพบกับพวกเราชาว ZUPPORTS ทุกวันจันทร์เหมือนเช่นเคย กับการรายงานสถานการณ์ ข่าวสาร ประจำสัปดาห์ รวมถึงความเคลื่อนไหวในแวดวงการนำเข้า-ส่งออก ในภาคการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

.

สัปดาห์นี้เป็นการเข้าสู่เดือนกันยายนซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายประจำไตรสามที่สามของปี ซึ่งค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ปีนี้จะไม่มีช่วงฤดู Peak Season หรือช่วงเวลาที่พลุกพล่านที่สุดของการส่งออกเหมือนทุกปี เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเข้าสู่สภาวะถดถอย โดยเฉพาะในสองภูมิภาคหลักของโลก อย่าง ภูมิภาคยุโรปและภูมิภาคอเมริกาเหนือ

.

อย่างไรก็ตาม เดือน กันยายน ก็ยังเป็นเดือนที่ต้องเตรียมตัว ก่อนที่จีน จะหยุดยาวจีน ซึ่งปิดยาววันที่ 1-7 ตุลาคม เป็นเวลา 7 วันตามวันหยุดราชการ หรือในบางองค์กรอาจปิดยาวถึง 10 วัน

.

ทำให้บริษัทใน จีนเร่งสะสมสินค้า รวมถึงการเร่งดันการสินค้าส่งออก จึงอาจมี volume นำเข้าส่งออก จากจีน ออกมาให้เราเห็น ส่งผลต่อภาพรวมการขนส่งทางทะเล เรือที่เข้าออกจีน อาจกลับมาแน่นอีกรอบ

.

สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตามกันมีอะไรบ้าง หากพร้อมกันแล้ว ตามพวกเรามาไล่เรียงดูกันทีละประเด็นกัน !!!

.

=========================

ไม่พลาดทุกข่าวสาร วงการขนส่งระหว่างประเทศ นำเข้า ส่งออก

เข้าร่วมกลุ่มที่ https://bit.ly/3seJRLk

=========================

1) ด้านสถานการณ์ในการจองพื้นที่ระวางขนส่งหรือการบุ๊คกิ้ง คนมีของยังถือแต้มต่อ แต่พื้นที่ระวางเริ่มงวดขึ้น

.

เริ่มกันที่สถานการณ์ในการจองพื้นที่ระวางขนส่งทางเรือ หรือการบุ๊คกิ้งสำหรับงานใหม่ ยังคงอยู่ในช่วงเวลาที่สามารถทำการจองเรือสำหรับงานขาออกได้ไม่ยากเย็นนัก ในหลายเส้นทางการขนส่งพื้นที่ระวางเรือยังคงอยู่ในภาวะที่เปิดกว้าง สายการเดินเรือส่วนใหญ่ยังคงต้องการสินค้ามาเติมเรือให้เต็ม

.

โดยในภาพรวม เส้นทางการขนส่งหลักๆ อย่างเช่น จากภูมิภาคเอเชียไปยังภูมิภาคยุโรป หรือ Asia-Europe Trade Lane และเส้นทางการขนส่งจากภูมิภาคเอเชียไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ หรือ Transpacific Eastbound

.

รวมไปถึงเส้นทางการขนส่งภายในภูมิภาคเอเชีย หรือ Intra -Asia Trade Lane ยังคงสามารถทำการจองได้ไม่ยากเย็นนัก และไม่ต้องทำการจองล่วงหน้านานสักเท่าไร

.

ทั้งนี้ก็เนื่องจากอุปสงค์หรือความต้องการในภาคการขนส่งยังคงอยู่ในช่วงขาลง จากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคที่เป็นหลักของการขนส่ง อย่างยุโรปและอเมริกา ซึ่งกำลังประสบกับวิกฤติการถดถอยทางเศรษฐกิจ จนกำลังคำสั่งซื้อหายไปกว่าครึ่ง !!!

.

ในขณะเดียวกัน ในหลายเส้นทางการขนส่ง ยังคงอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างแน่นและตึงตัวเป็นอย่างมาก อย่างในเส้นทางการขนส่งจากภูมิภาคเอเชียไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ หรือ Asia-Indian Subcontinent  รวมถึงเส้นทางการขนส่งจากภูมิภาคยุโรปไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือทั้งสองขา หรือ Europe -North America Transatlantic (Eastbound and Westbound)

.

เนื่องจากในเส้นทางการขนส่งในภูมิภาคดังกล่าวประสบกับปัญหาอุปสงค์ในภาคขนส่งสูงกว่าอุปทาน โดยมีสาเหตุมาจาก ตารางเดินเรือที่ไม่นิ่งจนส่งผลให้ความถี่ในการบริการหุบน้อยลง ดังนั้นในเส้นทางการขนส่งในแทบนี้ ยังคงต้องทำการจองเรือล่วงหน้าค่อนข้างนาน หรืออย่างน้อย 2-5 สัปดาห์ .

.

รวมไปถึงเส้นทางการขนส่งภายในภูมิภาคเอเชีย หรือ Intra Asia โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งไปยังประเทศจีน ที่พื้นที่ของหลายสายการเดินเรือเริ่มแน่น ไม่สามารถทำการรับการจองงานใหม่ได้ เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายต้องการดันสินค้าส่งเข้าไปที่ประเทศจีน เพื่อให้ทันก่อนวันชาติจีน ซึ่งจะมีการปิดหยุดงานยาวอย่างน้อย 7 วัน

.

โดยในภาพรวมของการจองเรือ เรายังคงต้องลุ้นในเรื่องของตู้สินค้าและตารางเดินเรือที่ยังแกว่งและไม่มีความแน่นอน ซึ่งในบางสัปดาห์อาจไม่มีเรือในบางเส้นทาง อันเนื่องจากการปล่อยตารางเรือว่างหรือ Blank Sailing ซึ่งอาจทำให้พื้นที่ระวางขนส่งในบางเส้นทางขนส่ง เริ่มมีท่าทีจะหุบแคบลงในอีกไม่กี่สัปดาห์

.

ดังนั้น แม้ว่าปัจจุบัน จะเป็นช่วงเวลาของคนที่มีของมีงาน ท่ามกลางภาวะราคาค่าระวางหรือค่าเฟรทเป็นใจ แต่นี่อาจเป็นการเข้าสู่ช่วงเวลาที่ถือว่าทำงานไม่ง่ายเสียทีเดียว !!!

.

*******

2) ด้านสถานการณ์ในการจัดหาและการหมุนเวียนของตู้สินค้า ภาวะการณ์ขาดแคลนตู้สินค้า เริ่มก้าวเข้ามาหาเราอีกครั้ง!?

.

ในส่วนของสถานการณ์ภาวการณ์จัดหาและการหมุนเวียนตู้สินค้า ในหลายภูมิภาคทั่วโลกเริ่มเห็นภาพการขาดแคลนแบบชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคยุโรป,ภูมิภาคอเมริกาเหนือ,ภูมิภาคเอเชียใต้ หรือ Indian Subcontinent และไม่เว้นแม้แต่ภูมิภาคเอเชียเอง

.

โดยเฉพาะตามเมืองหรือพื้นที่ตามแนวลึกของแผ่นดินในแต่ละภูมิภาค ตามท่าแห้ง หรือ ICD, IPI  ต่างๆที่กำลังประสบกับปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนอย่างหนักสำหรับขาออก เนื่องจากตู้สินค้าส่งไปไม่ถึง โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาในการบริหารจัดการในภาคขนส่งในแต่ละภูมิภาค

.

ซึ่งปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า สาเหตุหลักๆจะยังคงมาจากปัญหาเรื่องความหนาแน่นของท่าเรือหลักทั่วโลก ตู้สินค้าจำนวนมากตกค้างและไม่สามารถทำการขนส่งต่อ หรือไหลไปตามเวลาที่ควรจะเป็น จึงทำให้ไม่เพียงพอและทันต่อความต้องการ

.

รวมถึงมีสาเหตุมาจากปัญหาตารางเดินเรือที่ไม่มีความนิ่ง โดยเฉพาะจากการที่แต่ละสายการเดินเรือมีการปล่อยตารางเรือว่าง หรือ Blank Sailing อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ความถี่ในการหมุนเวียน หรือ Turnover ของตู้สินค้าลดต่ำลง เนื่องจากรอบเรือที่มีจำกัด ซึ่งแน่นอนว่า พื้นที่ระวางจึงถูกสงวนไว้ในการขนส่งตู้สินค้าหนักก่อนตู้สินค้าเปล่า

.

ในบ้านเรา ภาพรวมสถานการณ์การหมุนเวียนของตู้สินค้า ยังคงอยู่ในจุดที่ค่อนข้างตึงตัวพอสมควร หลายสายการเดินเรือเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนแบบเห็นได้ชัดขึ้นจากสัปดาห์ก่อนๆ สัดส่วนของตู้สินค้าที่มีสำหรับงานขาออก เริ่มไม่สมดุลกับจำนวนบุ๊คกิ้งยืนยันการจองเรือที่ปล่อยออกมา

.

รวมถึงสภาพตู้เปล่าที่ปล่อยออกมา ไม่น่าเป็นที่พอใจของหลายคนสักเท่าไร โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องการบรรจุสินค้าประเภทอาหารหรือชิ้นส่วน Electronics ซึ่งหากตัดเกรดตู้ที่ปล่อยในบ้านเรา ส่วนมากยังคงอยู่ในเกณฑ์ -B ลงมา สภาพคือพื้นตู้มีเสี้ยนและผนังตู้มีรอยด่างสนิม

.

ดังนั้น คำแนะนำเบื้องต้นช่วงนี้ หากเป็นไปได้ หลีกเลี่ยงการลากตู้บรรจุสินค้าในวันตัดตู้หรือ Closing Date เผื่อเวลาในการทำงานในกรณีที่ต้องรอทีมช่างของลาน หรือเผื่อเวลาในการเปลี่ยนตู้ เพื่อป้องกันปัญหาการตกเรือ

.

*******

3) ด้านสถานการณ์ตารางเดินเรือและระยะเวลาการขนส่ง งานที่รีบเร่งด่วน ขนส่งทางแอร์คือตัวเลือกที่ดีที่สุด

.

ทางด้านสถานการณ์ความนิ่งของตารางเดินเรือและระยะในการขนส่ง ในทุกเส้นทางการขนส่ง ในทุกภูมิภาค ยังคงอยู่ในสภาวะที่เอาแน่นอนไม่ได้ ไร้ซึ่งความน่าเชื่อและความนิ่ง

.

แน่นอนว่าภาวะที่เรายังคงประสบยังคงวนเวียนอยู่ในทุกรูปแบบของความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าของวันวันเรือออกและวันเรือถึง หรือ Delay ,การที่เรือข้ามไม่เข้าบางท่าเรือตามตารางเรือ หรือ OMIT/ SKIP Call ,การหน่วงเวลาและไถลตารางเรือ หรือ Retard and Slide Schedule

.

และปัญหาใหญ่ที่ทำให้พื้นที่ระวางขนส่งทางเรือบีบแคบลงเรื่อยๆ นั่นคือสายการเดินเรือยังคง ทำการประกาศตารางเรือว่าง หรือ Blank Sailing กันอย่างต่อเนื่องในทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะในเส้นทางการขนส่งไปยังภูมิภาคหลักของโลก อย่าง ภูมิภาคอเมริกาเหนือและภูมิภาคยุโรป

.

โดยเฉพาะแค่ สัปดาห์ที่ 34, 35, 36 พื้นที่ระวางขนส่งทางเรือหายไปจากท้องน้ำถึง 147,000 TEU สำหรับภูมิภาคอเมริกาเหนือฝั่งตะวันตก หรือ USWC และในภูมิภาคอเมริกาเหนือฝั่งตะวันออก หรือ USEC  พื้นที่ระวางหายไป 71,400 TEU จากการที่ทุกสายการเดินเรือมีการประกาศตารางเรือว่าง หรือ Blank Sailing

.

ซึ่งแน่นอนว่าการปล่อยตารางเรือว่าง ทุกสายการเดินเรือจะยังคงทยอยประกาศออกมาเป็นระยะ เพื่อลดความแออัดของจำนวนเรือสินค้าที่จะไปกองรวมกันตามนอกชายฝั่งของท่าเรือหลักในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก

.

รวมไปถึงปัญหาระยะเวลาในการขนส่งที่ยืดยาวนานขึ้นจากเดิม ยังเป็นอีกเรื่องที่สร้างความปวดหัวไม่น้อยกับคนทำงาน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในฝั่งงานขานำเข้า ซึ่งไม่สามารถทำการวางแผนหรือเอาแน่นอนอะไรได้เลย

.

ยิ่งเป็นกรณีที่สินค้านำเข้ามาจากภูมิภาคยุโรปหรือภูมิภาคอเมริกาเหนือ และสินค้าต้องรอที่จุดถ่ายลำก่อนเข้าบ้านเรา ซึ่งหลายคนยังคงต้องรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนชื่อเรือถ่ายลำ หรือเปลี่ยนเวลาเป็นว่าเล่น

.

ทั้งนี้ก็เนื่องจากปัญหาความไม่นิ่งของเรือ ที่ไม่สามารถวิ่งได้ตามตารางเรือของตนเอง รวมถึงปัญหาความหนาแน่นของท่าเรือที่จุดถ่ายลำเอง จึงไม่สามารถทำการไหลผ่านตู้สินค้าขึ้นเรือถ่ายลำได้ตามที่ควรจะเป็น เนื่องจากความล่าช้าในการปฏิบัติงาน

.

*********

4) ทางด้านสถานการณ์ค่าระวางขนส่งทางเรือหรือค่าเฟรท ยังอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่อง แต่ราคาเฟรทก็ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิดหลายเท่าตัว! และบางเส้นทางปรับตัวสวนขึ้นด้วย!!

.

ทางด้านสถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางเรือหรือค่าเฟรท ยังคงอยู่ในช่วงการปรับเพดานลงแทบจะยกแผงในหลายเส้นทางการขนส่ง แม้จะเข้าสู่ช่วงฤดูพลุกพล่านในการขนส่งแล้วก็ตาม

.

ทั้งนี้ก็เนื่องจากอุปสงค์หรือความต้องการในภาคการขนส่ง หดตัวลงแรงกว่าที่หลายคนคาดการกันก่อนหน้านี้ สินค้าหรือของจากตลาดขนส่งทั้งทางเรือและทางแอร์หายไปจากท้องตลาด โดยมีสาเหตุจากปัจจัยหลักทางด้านเศรษฐกิจโลกที่ยังคงดิ่งลงจากภาวะทดถอย

.

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ราคาค่าระวางขนส่งปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 27 ซึ่งเป็นการปรับราคาค่าระวางลงโดยคิดเป็น ร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

.

โดยในเส้นทางขนส่งหลักๆ อย่าง เส้นทางจากภูมิภาคเอเชียไปยังภูมิภาคยุโรปตอนเหนือและตอนล่าง หรือ Asia- North Europe/ Asia-MED ,เส้นทางการขนส่งจากภูมิภาคเอเชียไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ หรือ Transpacific ราคาค่าระวางตลาดยังคงอยู่ในจุดที่อ่อนตัวลง เนื่องจากไม่มีของ

.

หากแต่ การปรับลดลงของค่าระวางขนส่ง เริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ถึงช่วงเวลาหยุดพักการดิ่งลงของราคา โดยสังเกตุได้จากกราฟหรือแผนภูมิดัชนีเริ่มมีความชันที่น้อยลง อันเนื่องจากพื้นที่ระวางหรืออุปทานที่บีบแคบลงเรื่อยๆ

.

ในขณะที่ มีอีกหลายเส้นทาง อย่าง ในเส้นทางการขนส่งระหว่างภูมิภาคยุโรปกับภูมิภาคอเมริกาเหนือ หรือ Transatlantic Europe to North America ทั้งสองขา Eastbound และ Westbound ,เส้นทางการขนส่งจากภูมิภาคเอเชียไปยังภูมิภาคอเมริกาใต้ หรือ Asia-Latin America Lane

.

โดยราคาค่าระวางในเส้นทางการขนส่งที่ว่า ไม่ได้ปรับตัวลดลงตามหลายเส้นทางขนส่งหลัก หากแต่ยังคงมีการปรับตัวสูงขึ้นในลักษณะที่สวนทาง เนื่องจากอุปทานหรือการให้บริการในภาคขนส่งที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการหรืออุปสงค์ และมีจุดที่น่าสนใจคือ มีแนวโน้มจะไปดึงให้ราคาค่าระวางในเส้นทางอื่นปรับขึ้นตามอีกด้วย!!!

.

ดังนั้น นี่จึงเป็นสัญญาณที่อาจบ่งบอกว่า ราคาค่าระวางขนส่งทางเรือ อาจจะอยู่ในจุดที่พร้อมจะทำการดีดกลับ หากอุปทานหรือพื้นที่ระวางยังคงหุบลงไปเรื่อยๆเช่นนี้ เนื่องจากราคาค่าระวางหรือค่าเฟรท ก็ไม่ต่างจากค่าสินค้าหรือบริการอื่นๆที่ล้อตามกลไกตลาด หรือยุดหลักอุปสงค์อุปทานเช่นกัน

.

*******

5) สุดท้ายด้านสถานการณ์ความหนาแน่นของท่าเรือทั่วโลก วิกฤติความหนาแน่นยังคงเป็นก้างชิ้นใหญ่ที่ขวางหลอดลม

.

ทางด้านสถานการณ์ความหนาแน่นและแออัด รวมถึงความพลุกพล่านของท่าเรือหลักต่างๆทั่วโลก ยังคงอยู่ในจุดที่ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติ และยังไม่มีแนวโน้มไปในทิศทางที่จะดีขึ้นแบบเห็นได้ชัด ทุกท่าเรือหลักๆ ยังคงหนาแน่นไปด้วยกองตู้สินค้าและจำนวนเรือที่รอเข้าเทียบท่าขนถ่าย

.

หลายท่าเรือในภูมิภาคหลัก อย่างยุโรปและอเมริกาเหนือ ยังต้องปวดหัวกับการรับมือปัญหา ในการบริหารจัดการการกระจายและขนส่งไหลตู้สินค้าในบริเวณท่าเรือ เนื่องจากความล้มเหลวในการจัดการทั้งภาคแรงงานและอุปกรณ์การขนส่ง จึงทำให้ตู้สินค้าจำนวนมากไปเสียเวลาในการขนส่งต่อเนื่อง ทั้งทางรางและทางถนน

.

ในด้านภาพรวมของท่าเรือหลักในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ด้านฝั่งตะวันตกเริ่มที่จะมีเวลาหายใจมากขึ้น เรือที่ต่อแถวลดน้อยลง โดยสาเหตุจากผู้ประกอบการจำนวนมาก มีการโยกสินค้าไปขึ้นที่ท่าเรือฝั่งตะวันออกและฝั่งอ่าว เนื่องจากกังวลกับปัญหาการนัดหยุดงานของแรงงาน ในช่วงที่สัญญาจ้างงานฉบับใหม่ ระหว่าง ILWU กับ PMA ยังไม่เรียบร้อย

.

อย่างท่าเรือหลักฝั่งตะวันออก USEC (USNYC/ USCHS/ USSAV/ USMIA) มีจำนวนเรือรอเทียบท่าร่วมๆ 100 ลำ. โดยเรือสินค้าใช้เวลารอเข้าเทียบ รวมถึงใช้เวลาในการปฏิบัติงานขนถ่ายที่ท่า อยู่ที่ 10-18 วัน. (โดยเฉพาะที่ USSAV มีเรือที่รอเทียบและที่เทียบแล้วเกือบ 40 ลำ โดยเรือใช้เวลารอเข้าเทียบรวมถึงใช้เวลาในการปฏิบัติงานขนถ่ายอยู่ที่ 14-18 วัน).( เฉพาะที่ USNYC มีจำนวนเรือสินค้ารอประมาณ 25 ลำ และใช้เวลารอมากกว่า 32 วัน).

.

ด้านท่าเรือหลักฝั่งตะวันตก USWC (USSEA/ USTIW/ USOAK ) อยู่ในภาวะทรงตัว โดยมีเรือรอเข้าเทียบและเทียบที่ท่าแล้วประมาณ 40-45 ลำ. และใช้เวลารอเข้าเทียบท่ารวมถึงเวลาในการขนถ่ายอยู่ที่ 4-10 วัน (เฉพาะที่ USOAK ใช้เวลามากกว่า 20 วัน). ในขณะที่ท่าเรือฝั่งอ่าวหรือ Gulf port MID West อย่าง USHOU ยังคงรับบทหนัก โดยมีจำนวนเรือตู้สินค้าทั้งที่เข้าเทียบแล้วและที่รอเข้าเทียบขนถ่าย ประมาณ 70 ลำ โดยใช้เวลารอเทียบอยู่ที่ 14-17 วัน

.

ส่วนทางด้านท่าเรือที่เป็นประตูหลักของสหรัฐอเมริกา อย่าง (USLAX/ USLGB) อยู่ในภาวะคงที่และเริ่มผ่อนคลายลง เนื่องจากผู้ประกอบการจำนวนมาก ทำการย้ายสินค้าหนีข้ามไปขึ้นฝั่งตะวันออก โดยมีเรือรอเข้าเทียบท่าประมาณ 50-60 ลำ (แบ่งเป็นอยู่ในรัศมี 25ไมล์ทะเลกว่า 40-45 ลำ และอยู่นอกเขต SAQA Zone ประมาณ 10-15 ลำ)  และใช้เวลารอเทียบท่าอยู่ที่ 10 -14 วัน  และตู้สินค้าที่ต้องขึ้นรางต่อ ใช้เวลารอ 12 -15 วัน

.

ในส่วนของท่าเรือหลักในภูมิภาคยุโรป อย่าง NLRTM/ DEHAM/ BEANR อยู่ในภาวะทรงตัวไม่ต่าจากสัปดาห์ก่อนมากนัก และยังไม่มีแนวโน้มหรือสัญญาณว่าจะดีขึ้น ทั้งในด้านปริมาณกองตู้สินค้าและจำนวนเรือที่รอเทียบ หากแต่พอจะมีข่าวดีเรื่องการต่อรองเรื่องสัญญาแรงงานที่ท่าเรือของเยอรมัน ปัญหาความหนาแน่นจึงมีสัญญาณออกมาในทางที่ดีขึ้น

.

โดยภาพรวมทั้งสามท่าเรือ มีจำนวนเรือสินค้าที่รอเข้าเทียบท่าอยู่รวมกันกว่า 800 ลำ ซึ่งแค่เฉพาะที่ NLRTM มีเรือเทียบท่าขนถ่ายแล้วและที่รอเทียบประมาณเกือบแตะ 400 ลำ

.

สุดท้าย ด้านท่าเรือหลักต่างๆภายในภูมิภาคเอเชีย หลายท่าเรือยังคงอยู่ในภาวะปกติ หากแต่บางท่าเรืออาจได้รับผลกระทบจากพายุและความแปรปรวนของสภาพอากาศในหน้ามรสุม อย่างเช่นในช่วงสัปดาห์นี้มีไต้ฝุ่น HINNAMNOR ก่อตัวในทะเลฝั่งตะวันออกของจีน ซึ่งแน่นอนว่าหลายท่าเรือจะได้รับผลกระทบ

.

โดยท่าเรือหลักฝั่งตะวันออกของประเทศจีน อย่าง CNSHA มีจำนวนเรือสินค้าที่ท่าและบริเวณโดยรอบ กว่า 5,000 ลำ ส่วนทางด้าน CNNGB เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีเรือสินค้าที่รอเทียบท่าขนถ่าย ซึ่งมีจำนวนเกือบ 1,000 ลำ

.

ขณะที่ทางด้านท่าเรือหลักของจีนตอนล่าง อย่าง HKHKG/ CNSHK/ CNYTN ยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว หากแต่ติดขัดปัญหาการไหลเวียนของตู้สินค้าและเรือสินค้า อันเนื่องจากการล็อคดาวน์ในบางเขตของเมือง Shenzhen รวมถึงการรอผลตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19ของลูกเรือก่อนทำการเข้าเทียบ  จึงยังทำให้เกิดการสะสมเรือสินค้าที่รอเทียบและตู้สินค้าขาออกที่บริเวณท่า

.

โดยทั้งสามท่าเรือ มีเรือสินค้ามีเรือสะสมอยู่โดยรอบ กว่า 1,100 ลำ โดยเฉพาะที่ HKHKG มีจำนวนเรือสินค้าอยู่บริเวณท่าและที่รอเทียบท่ากว่า 900 ลำ

.

*******

6) สถานการณ์และความเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ที่น่าติดตาม ความเข้มงวดของทางการจีนภายใต้นโยบาย ZERO COVID-19 กับราคาค่าระวางขนส่ง ที่ยังลงต่อเนื่อง แบบมีนัยยะ???

.

ในรอบสัปดาห์นี้ ความเคลื่อนไหวที่น่าติดตาม อาจต้องหันกลับไปดูความเข้มงวดของทางการจีน ในความพยายามที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายใต้นโยบาย Zero Covid-19

.

ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทางการจีนมีการออกคำสั่งแบบเร่งด่วน ในการล็อคดาวน์เมืองใหญ่อย่าง Chengdu ซึ่งถือว่าเป็นการสั่งปิดเมืองใหญ่เป็นเมืองที่สองต่อจากการล็อคดาวน์เมือง Shanghai เมื่อช่วงต้นปี รวมถึงการออกคำสั่งปิดในบางเขตของเมือง Shenzhen เมื่อสองสัปดาห์ก่อน

.

ซึ่งแน่นอนว่าการมีคำสั่งปิดในแต่ละเมืองของจีนนั้น ล้วนส่งผลต่อระบบวงจรห่วงโซ่อุปทานของสินค้าในตลาดโลกทั้งสิ้น เนื่องจากแต่ละเมืองในประเทศจีนนั้น ล้วนเป็นฐานการผลิตหลักในแทบทุกหมวดหมู่สินค้าที่หมุนเวียนบนโลกนี้ และยังเป็นศูนย์กลางหลัก ในการบริหารจัดการวงจรในภาคการขนส่งและการหมุนเวียนของตู้สินค้า

.

รวมถึงสถานการณ์ของค่าระวางขนส่งทางเรือหรือค่าเฟรท ที่มีการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำกว่าช่วงปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด จนหลายคนเริ่มมองว่านี่อาจเป็นโอกาสที่ดุลการต่อรอง จะกลับมาอยู่ในมือผู้ประกอบการอีกครั้ง ซึ่งถ้ามองในระยะสั้น นี่คือช่วงเวลาของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง

.

หากแต่ถ้ามองในระยะยาว เราต้องไม่ลืมว่า ราคาค่าระวางที่เราเห็นลดลงในปัจจุบันนั้น แท้จริงมันยังสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึง เกือบ 5 เท่าตัว หรือในบางเส้นทางยังคงสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ถึง 7 เท่า !!!

.

และแน่นอนว่าหลักในการทำตลาดของผู้ให้บริการรับขนส่ง โดยเฉพาะสายการเดินเรือ ต้องมีการแก้เกมส์ทางธุรกิจไม่ต่างจากการทำตลาดของสินค้าหรืองานบริการประเภทอื่น ซึ่งนั่นคือคำถามว่า เรายังจะคง Enjoy และได้เห็นราคาค่าระวางปรับตัวลงเช่นนี้ อีกนานแค่ไหน ??

.

ดังนั้นนี่จึงเป็นช่วงเวลา ที่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงตัวแทนรับขนส่งขนาดกลางลงมา ต้องวางแผนปรับตัวให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันและไร้ซึ่งความแน่นอนในการขนส่ง

.

รวมถึงต้องมีการสร้างพื้นฐานหรือหาเครื่องมือตัวช่วยต่างๆ ทั้งในรูปของพันธมิตรที่เชื่อถือได้ และการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ ในรูปแบบ Digital เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานหรือประมวลผลข้อมูล

.

ที่กล่าวมาทั้งหมด คือภาพรวมสถานการณ์ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มและทิศทางของสัปดาห์นี้ ในแวดวงการนำเข้า-ส่งออก ในภาคของการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งหมายใจว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน

.

สัปดาห์นี้ขอลาไปก่อน ขอบุญรักษาทุกท่าน สวัสดีครับ.

.

=========================

ZUPPORTS ควบคุมต้นทุนขนส่งผ่านระบบเปรียบเทียบราคาเฟรทออนไลน์

สนใจลงทะเบียนทดลองใช้งานฟรี ที่ www.ZUPPORTS.co/register

=========================

สัมมนาดีๆ ที่ไม่ควรพลาด!

ผู้ประกอบการไทยเอาตัวรอดอย่างไรในวิกฤติ freight ผันผวน!!

.

เจาะลึกปัญหาต้นทุนค่าใช้จ่าย, ภาวะแส้ม้า, ตารางเรือผันผวน, สายเรือไม่พอ, เรือ delay, การเลือกสายเรือ, ค่าน้ำมันผันผวน พร้อมหาทางออกและวิธีเอาตัวรอด

.

บรรยายโดยทีมผู้บริหาร ZUPPORTS ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเปรียบเทียบผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ อันดับหนึ่งของไทย

.

วันที่ 6 กันยายน 10:00-11:00 น.

.

ลงทะเบียนได้ที่

https://us02web.zoom.us/webinar/register/4716618269216/WN_99P2w6rAT3qTWuJT4thhMQ?fbclid=IwAR2rlZK5euRG5b3fDSQUjkD6nWp8c50M2hCj_IakKIzDuyAz1XJk0RBaso0

(ไม่มีค่าใช้จ่าย)

 

ข่าวสารอื่นๆ