[Freight Weekly] อัพเดตสถานการณ์ขนส่งระหว่างประเทศ ประจำวันที่ 20-24 มิถุนายน 2565 กับ ZUPPORTS คลื่นลมที่แสนสงบก่อนพายุจะถาโถมที่อเมริกา

กลับมาพบกันอีกครั้งเหมือนเช่นเคย ในการรายงานสถานการณ์ รวมถึง เรื่องราวและข่าวสารในแวดวงนำเข้า-ส่งออกประจำสัปดาห์ ที่จะช่วยให้คุณรู้เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงาน กับพวกเราชาว ZUPPORTS

.

สำหรับสัปดาห์นี้ เป็นการเข้าสู่สัปดาห์ที่ 26/2022 และนับเป็นสัปดาห์สุดท้ายของครึ่งปีแรก ซึ่งหลายคนโดยเฉพาะตัวแทนฝ่ายขาย ต่างกำลังเตรียมตัวรายงานตัวเลขสำหรับปิดในไตรมาสที่สองของปี 2022

.

ในช่วงครึ่งปีหรือสองไตรมาสที่ผ่านมา ยังคงเป็น Golden Time ของบรรดาสายการเดินเรือ รวมไปถึงตัวแทนรับขนส่งต่างๆในกลุ่ม NVOCC  โดยเฉพาะรายใหญ่ที่มีอำนาจการต่อรองกับสายการเดินเรือสูง หรือรายที่มีการถือ Dead Freight /Dead SLOT ไว้ในมือ เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พื้นที่ระวางขนส่งหายไปจากท้องน้ำพอสมควร ในขณะที่อุปสงค์ในการขนส่งยังคงอยู่ในระดับสูง

.

ดังนั้นช่วงที่ผ่านมา ทรงภาคตลาดขนส่ง จึงยังเป็นในลักษณะที่ลูกค้าเป็นฝ่ายวิ่งเข้าหาบรรดาผู้รับขนส่งเองเพื่อหาพื้นที่ระวาง !!!

.

ในสัปดาห์นี้ เราต้องจับตาไปที่สถานการณ์ความหนาแน่นของบรรดาท่าเรือหลักทั่วโลก ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาบรรเทาลง ทั้งในภูมิภาคยุโรปและภูมิภาคอเมริกาเหนือ ที่ต้องเตรียมการรับมือการไหลบ่าของสินค้าจำนวนมหาศาลจากประเทศจีน แถมยังถูกซ้ำเติมจากปัญหาภายใน อย่างเรื่องของสัญญาจ้างที่ยังไม่มีทางออก ระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการท่าเรือกับสหภาพแรงงานเท่าเรือฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา และการเตรียมนัดหยุดงานของแรงงานในท่าเรือของประเทศเยอรมัน

.

รวมถึงสถานการณ์โลกอย่าง ภาวะราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นจนน่าตกใจ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ ข้าวของ สินค้าและบริการถีบตัวสูงขึ้น จนเกิดภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบทางตรงมาถึงเราๆ

.

เอาล่ะ หากพร้อมกันแล้ว ตามเรามาไล่เรียงกัน ในแต่ล่ะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชาวนำเข้า-ส่งออก กันเลย

.

=========================

ZUPPORTS ควบคุมต้นทุนขนส่งผ่านระบบเปรียบเทียบราคาเฟรทออนไลน์

สนใจลงทะเบียนทดลองใช้งานฟรี ที่ www.ZUPPORTS.co/register

=========================

1) เริ่มกันที่สถานการณ์การจองพื้นที่ระวางเรือหรือการบุ๊คกิ้ง ที่ต้องจองล่วงหน้ามากกว่า 3เดือน

.

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนยังคงประสบกับปัญหาในการจองเรือ หลายสายการเดินเรือไม่สามารถรับการจองสำหรับงานใหม่ และบางสายการเดินเรือเริ่มมีการเขี่ยหรือทำการขอคว่ำบุ๊คกิ้งที่ปล่อยออกไปแล้ว เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าและไม่มีเที่ยวเรือให้บริการ เนื่องจากการปล่อยตารางเรือว่างกระทันหันหรือ Blank Sailing

.

โดยในบางเส้นทางการขนส่ง ต้องทำการจองเรือล่วงหน้าอย่างน้อย 4-5 สัปดาห์ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนต้องมีปัญหาและคำถามในเรื่องของค่าระวางขนส่ง เนื่องจากสายการเดินเรือยังไม่สามารถทำการยืนยันราคาล่วงหน้าได้นานขนาดนั้น โดยเฉพาะในเส้นทางสายนอกระยะไกล หรือ Long Hual Service

.

ดังนั้นหลายคนจึงเลี่ยงไม่ได้ และเลือกที่จะทำการจองเรือไปโดยไม่รู้ราคาค่าระวาง และไปวัดดวงอีกที

.

ในเส้นทางขนส่งไปยังภูมิภาคยุโรป ภูมิภาคอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ หลายสายการเดินเรือ สามารถรับการจองเรือได้อีกทีคือช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือน กรกฎาคม โดยมีสาเหตุจากมีการหุบจำนวนรอบเรือที่ให้บริการลง เนื่องจากเรือที่ปล่อยไปในเที่ยวเรือก่อนหน้านี้ ยังคงไปกองรวมกันและติดรอตามท่าเรือที่ประสบปัญหาความหนาแน่น จึงไม่สามารถวิ่งกลับเข้ารอบเรือได้ทัน

.

นอกจากนี้หลายสายการเดินเรือยังไม่สามารถรับการจองงาน สำหรับการขนส่งไปยังเมืองหรือท่าแห้งที่อยู่ตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่เราเรียกว่า IPI Service (Inland Point Intermodal) เนื่องจากปัญหาความหนาแน่นตาม Inland HUB

.

รวมถึงบรรดาชุมทางรถไฟที่เป็นสถานีคัดแยกสินค้าหลักหรือ HUB Rail Ramp อย่าง Chicago, Kansas และ Memphis ก็ไม่สามารถทำการรับการจองงานได้เช่นกัน เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ที่ใช้ขนส่งทางราง

 

.

*******

2) ทางด้านสถานการณ์การหมุนเวียนของตู้สินค้า ยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการทั่วโลก

 

ภาพรวมของสถานการณ์ตู้สินค้า เริ่มมีการหมุนเวียนและเคลื่อนย้ายมากขึ้น แต่ถ้าลองเจาะดูในแต่ล่ะภูมิภาคทั่วโลก ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการในการขนส่ง โดยเฉพาะในภูมิภาคหรือพื้นที่ไม่ติดทะเลหรือตามท่าแห้ง ICDและตามเมืองที่อยู่ในตอนลึกของภูมิภาคต่างๆ ยังคงประสบปัญหาไม่มีตู้สินค้าเปล่าสำหรับงานส่งออก

.

โดยเฉพาะส่วนที่เป็น Mid-Land ในภูมิภาคยุโรป,อเมริกาเหนือ ที่ประสบกับปัญหาติดขัดในการไหลเวียนตู้สินค้าเข้าไปหล่อเลี้ยง อันเนื่องมาจากการขาดแคลนภาคแรงงานขนส่งและอุปกรณ์หางเทรลเลอร์หรืออุปกรณ์ขนส่งทางราง

.

สภาวะปัจจุบัน ตู้สินค้าส่วนมากยังคงตกค้างอยู่ตามท่าเรือต่างๆที่ประสบปัญหาความหนาแน่น รวมถึงไปติดอยู่บนเรือสินค้าจำนวนมากที่รอเข้าเทียบท่า

.

ตู้สินค้าจำนวนไม่น้อยถูกหมุนเวียนไปยังภูมิภาคที่เป็นเส้นทางขนส่งหรือตลาดหลักของสายการเดินเรือ อย่างประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน รวมถึงประเทศที่เป็นการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในภูมิยุโรป

.

โดยประเภทของตู้สินค้าที่ขาดแคลนหนักที่สุด คือตู้สินค้าประเภท 40’GP/40’HC เนื่องจากเป็นตู้สินค้าหลักที่ใช้ในการขนส่งปัจจุบัน โดยเฉพาะในเส้นทางการขนส่งไปยังภูมิภาคยุโรป, อเมริกาเหนือ,อเมริกาใต้หรือแม้แต่ภายในภูมิภาคเอเชีย

.

ทางบ้านสถานการณ์ในบ้านเรา หลายสายการเดินเรือเก็บทรงไม่อยู่ โดยเฉพาะบรรดาสายการเดินเรือขนาดใหญ่ ประสบปัญหาการขาดแคลนอย่างหนักจนไม่สามารถทำการเปิดรับการจองงานใหม่ได้ ในขณะที่บางสายการเดินเรือยังทยอยปล่อยบุ๊คกิ้งยืนยันการจองทั้งที่ไม่มีตู้เปล่าให้ลาก

.

รวมถึงสภาพตู้สินค้าส่วนใหญ่ที่มี ก็ไม่น่าจะเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการหลายราย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและ E-Goods เรียกว่าหน้างานแทบจะไล่รถกลับไปเปลี่ยนตู้ ตั้งแต่เห็นเลี้ยวเข้าประตู้โรงงาน

.

ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่มีใครรับรองได้ว่า ตู้ใบใหม่จะสภาพดีกว่าเดิมหรือไม่ หากมีการขอเปลี่ยนตู้ !!!

.

******

3) ในส่วนสถานการณ์ตารางเดินเรือโลกและระยะเวลาในการขนส่ง ยังคงแกว่งและไร้ซึ่งความแน่นอน

.

ในภาพรวมทั้งหมด ดูเหมือนความไม่นิ่งของตารางเดินเรือโลก จะอยู่ในภาวะทรงตัวและดูจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง โดยยังคงเป็นปัญหาที่คอยกวนใจและรุมเร้าผู้ประกอบการ รวมถึงเราๆทุกคนในวงการ

.

ทั้งปัญหาการปล่อยตารางเรือว่างหรือ Blank Sailing ,ความล่าช้า Delay ,การหน่วงตารางเรือ Retard รวมถึงการข้ามไม่เข้าเป็นบางท่า หรือ OMIT/SKIP Call Port.

.

ซึ่งหลายคนในวงการหรือสายงานนี้ เริ่มที่จะปรับตัวหรือยอมรับปัญหาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในการทำงานไปเสียแล้ว  !!!

.

ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากปัญหาความหนาแน่นของท่าเรือหลักในแต่ล่ะภูมิภาคทั่วโลก หรือพูดง่ายๆคือบรรดาท่าเรือ Main Port มีความหนาแน่นแบบสาหัส จนส่งผลให้เรือสินค้าจำนวนมากไปกองรวมกันต่อแถวเข้าเทียบท่า จนไม่สามารถกลับมาเข้าวงรอบเที่ยวเรือตัวเองได้ทัน และแน่นอนมันจะส่งผลต่อไปกับรอบเรือต่อไปในเส้นทางบริการเดียวกัน แบบ Domino Effect !!!

.

รวมไปถึงหลายเส้นทางขนส่งไปยังภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ ไม่ว่าจะเป็นสาย Trans-Pacific ไปยังฝั่งตะวันตก หรือสาย Trans-Atlantic ไปยังฝั่งตะวันออก หลายสายการเดินเรือมีการประกาศไม่เข้าบางท่าเรือ หรือ OMIT/SKIP Call เพื่อรักษาเวลาในเดินทางของรอบเรือนั้นๆ

.

โดยจากปัญหาข้างต้น ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาในการขนส่งหรือ Transit Time ให้บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปหมด จนระยะเวลาในการเดินทางขนส่งแต่ล่ะท่าเรือยืดยาวนานขึ้นถึง ร้อยล่ะ 20-40

.

*********

4) ทางด้านสถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าหรือค่าเฟรทโลก ยังคงทรงตัวคงที่ และมีแนวโน้มอ่อนตัวอีกครั้ง

.

ในส่วนภาพรวมของราคาค่าระวางขนส่งในทุกเส้นทาง ยังคงที่ตรึงแนว ไม่มีการประกาศปรับราคาค่าระวางหรือ GRI (General Rate Increase) รวมถึง ค่าระวางขนส่งพิเศษในช่วงฤดูหนาแน่นของการขนส่งหรือ PSS ( Peak Season Surcharge) อย่างที่หลายสำนักคาดไว้

.

ทั้งนี้ก็เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอย ขาดกำลังซื้อและจากสภาวะวิกฤติเงินเฟ้อรุนแรง โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป,เอเชีย หรือแม้แต่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือเอง ที่คำสั่งซื้อสินค้าหดหายไป ทั้งที่จริง ช่วงเวลานี้เป็นการเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาแน่นของการขนส่งแล้ว

.

ดังนั้นในปัจจุบัน ปัญหาการจองเรือไม่เข้าเนื่องจาก พื้นที่ระวางเรือเต็มหรือ Peak Season ของการขนส่ง เกิดจากการที่รอบเรือที่ให้บริการในท้องน้ำหุบเหลือน้อยลง ไม่ใช่เพราะปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าจำนวนมหาศาลเหมือนเช่นในอดีต

.

ถึงแม้จะไม่มีการประกาศปรับขึ้นราคาค่าระวางขนส่ง แต่เริ่มมีบางสายการเดินเรือ มีการส่งสัญญาณในการปรับขึ้นค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นทดแทน

.

อย่างเช่นในเส้นทางขนส่งจากภูมิภาคเอเชีย ไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ จะมีการปรับขึ้นในส่วนของค่าลากขนส่งพิเศษ หรือ EIC (Emergency Intermodal Charge) สำหรับตู้สินค้าที่ต้องทำการขนส่งต่อไปยังตอนกลางของประเทศสหรัฐ หรือบรรดา IPI Service ทั้งจากฝั่งตะวันตก (USWC) และฝั่งตะวันออก (USEC) จากเดิม USD 350 per CONT แจ้งปรับขึ้นเป็น USD 600 per CONT โดยจะมีผล วันที่ 1กรกฎาคมที่จะถึงนี้

.

รวมถึงหลายสายการเดินเรือ จะเริ่มมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษทางราง หรือ CFC ( Container Facility Charge) สำหรับตู้สินค้าที่ขึ้นฝั่งที่ ท่าเรือ Seattle( USSEA) และท่าเรือ Tacoma(USTIW)  ที่ต้องทำการขนส่งต่อทางรางไปยังตอนกลางของประเทศสหรัฐ หรือ IPI Service โดยจะมีผล วันที่ 1กรกฎาคมที่จะถึงนี้ เช่นกัน เนื่องจากปัญหาความหนาแน่นการขาดแคลนอุปกรณ์ทางราง

.

ในขณะที่บ้านเราเอง ค่อนข้างจะเสียงแตกและออกมาหลากหลายทิศทาง หลายสายการเดินเรือมีการปรับลดค่าระวางขนส่งลงในหลายเส้นทางขนส่ง ในขณะที่มีอีกหลายสายการเดินเรือเลือกที่จะตึงราคาหรือ Maintain Rate เนื่องจากพื้นที่ระวางยังคงแน่น

.

ตัวแทนรับขนส่งสินค้าประเภท Freight Forwarder ที่เป็นเจ้าใหญในวงการบ้านเราหลายราย ทั้งแบบ Global Network และ Local Network ไม่น่าจะมีปัญหาในการคุยและจบเรื่อง Service Contract สำหรับครึ่งปีหลัง กับสายการเดินเรือ แต่ต้องไปวัดดวงเรื่องสถานการณ์พื้นที่ระวางหรือ Space อีกทีตอนทำการจองเรือจริง

.

ในขณะที่ Freight Forwarder รายย่อยและผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกหลายราย ที่ไม่สามารถทำการต่อรองค่าระวางแบบ Service Contractยังคงต้องประสบกับปัญหาราคาค่าระวางขนส่งไม่นิ่งและไม่สามารถยืนระยะยาวได้ เรียกว่าต้องดิ้นรนและงัดทุกกระบวนท่าเพื่อความอยู่รอด ซึ่งในนาทีนี้สิ่งที่ไม่ควรทำที่สุด คือการลงไปสู้ในงานที่ต้องแข่งราคาระยะยาว หรือ Project Bidding

.

ยิ่งประเภทงานที่ต้องยืนราคายาวเป็นไตรมาสหรือยืนยาวนานครึ่งปี ยิ่งไม่ควร เนื่องจากสถานการณ์ภาวะราคาเชื้อเพลิงที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากค่าระวางขนส่งทางเรือจะไม่นิ่งแล้ว ค่าขนส่งทางบกก็ไม่นิ่งเช่นกัน

.

*******

5) ประเด็นสุดท้ายด้านสถานการณ์ความหนาแน่นของท่าเรือทั่วโลก ที่ยังคงเป็นโจทย์ยากของทุกท่าเรือ

.

ในด้านภาพรวมความหนาแน่นของท่าเรือต่างๆทั่วโลก ยังอยู่ในช่วงทรงตัวคงที่ ในเชิงของความหนาแน่นของตู้สินค้า และความพลุกพล่านของเรือสินค้า ทั้งที่เทียบท่าแล้วกำลังทำการขนถ่าย และรอเข้าเทียบท่าขนถ่ายอยู่รอบบริเวณท่า

.

ปัญหาความหนาแน่นดังกล่าว ดูจะยังไม่มีทางออกที่เห็นภาพชัดเจน หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพยายามทำการแก้ไขด้วยวิธีการที่หลากหลาย แต่ก็ยังไร้วี่แววที่จะทุเลาปัญหาลง เนื่องจากปัญหาความหนาแน่นของท่า ไม่ได้เกิดจากความไม่มีประสิทธิภาพหรือการทำงานไม่เต็มศักยภาพของท่าเพียงอย่างเดียว แต่มันมีสาเหตุและปัจจัยอื่นมากมายที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้อง  ตามรูปแบบวงจรในภาคขนส่ง

.

ด้านภาพรวมของท่าเรือหลักในภูมิภาคอเมริกาทั้งสองฝั่ง อยู่ในภาวะทรงตัว การระบายเรือที่เข้าเทียบและตู้สินค้าเป็นไปอย่างเชื่องช้า ในขณะที่หลายคนมองไปที่ท่าทีในการเจรจาหาข้อตกลงด้านแรงงานระหว่าง สหภาพแรงงานท่าเรือฝั่งตะวันตก กับสมาคมตัวแทนผู้ให้บริการท่าเรือ ที่มีแผนจะทำการหารือกันอีกครั้งในวันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งหลายฝ่ายอยากให้ทุกอย่างจบโดยไม่มีผลกระทบซ้ำเติมความหนาแน่นของท่า

.

อย่างฝั่งตะวันออก USEC (USNYC/ USCHS/ USSAV) เริ่มออกอาการตึงอีกครั้ง โดยมีเรือรอเทียบท่าประมาณ 60 -65 ลำ. และเรือใช้เวลารอเข้าเทียบรวมถึงใช้เวลาในการปฏิบัติงานขนถ่ายอยู่ที่ 12 -17 วัน.  เฉพาะแค่ที่ USSAV มีเรือรออยู่ประมาณ 30 -35 ลำ

.

ในส่วนฝั่งตะวันตก USWC (USSEA/ USTIW/ USOAK ) ถือว่ามีแนวโน้มทรงตัว. โดยมีเรือรอเข้าเทียบและเทียบที่ท่าแล้วประมาณ 42 -45 ลำ. และใช้เวลารอเข้าเทียบท่ารวมถึงเวลาในการขนถ่ายอยู่ที่ 8-12 วัน.

.

ในส่วนของ (USLAX/ USLGB) อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวและคงที่ โดยมีเรือรอเข้าเทียบท่าประมาณ 70-80 ลำ (แบ่งเป็นอยู่ในรัศมี 25ไมล์ทะเล 45-50ลำ และอยู่นอกเขต SAQA Zone ประมาณ 30ลำ)และใช้เวลารอเทียบท่าอยู่ที่ 12 -15 วัน ในขณะที่ท่าเรือที่ยังคงสาหัส จะเป็นที่ท่าเรือในฝั่งอ่าวหรือ MID-West อย่าง USHOU ที่มีเรือรอเข้าเทียบและที่ทำการเทียบท่าขนถ่ายแล้ว กว่า 50ลำ

.

ทางด้านภาพรวมของท่าเรือหลักในภูมิภาคยุโรป ยังคงหนักหน่วงในสภาวะคงที่ เนื่องจากต้องแบกรับภาระหนัก อันเนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของบรรดาชาติสมาชิกของกลุ่มสหภาพยุโรป โดยสามท่าหลักอย่าง NLRTM/ DEHAM/ BEANR ที่มีเรือสินค้ารอเข้าเทียบท่าอยู่รวมกันเกือบ 800ลำ โดยหนักสุดเหมือนเช่นเคย คือที่ NLRTM มีเรือสินค้าที่รอเทียบประมาณ 340 -360 ลำ

.

ในส่วนของท่าเรือหลักในภูมิภาคเอเชีย ที่ท่าเรือหลักของประเทศจีน ฝั่งตะวันออกอย่าง CNSHA ที่กลับมาปฏิบัติงานแบบเต็มสูบหลังคลายล็อคดาวน์และสามารถทำการระบายภาวะคอขวดได้ดี โดยมีจำนวนเรือสินค้าที่ท่าและบริเวณโดยรอบประมาณ 5500-6000ลำ หากแต่ทางด้าน CNNGB ยังคงประสบกับปัญหาความหนาแน่นไปด้วยตู้สินค้า และเรือสินค้ารอเทียบท่าขนถ่ายโดยรอบบริเวณท่าเป็นจำนวนกว่า 1000ลำ

.

ทางด้านท่าเรือของจีนตอนล่างอย่าง HKHKG/ CNSHK/ CNYTN ยังคงอยู่ในภาวะที่ทรงตัวและคงที่ โดยมีเรือสะสมอยู่โดยรอบบริเวณทั้งสามท่า กว่า 1100ลำ โดยที่ HKHKG มีจำนวนเรือสินค้ารออยู่ กว่า 900ลำ

.

*******

6) สถานการณ์ในรอบสัปดาห์ที่ต้องจับตา คือปัญหาและสภาวะความหนาแน่นของท่าเรือหลักในยุโรปและอเมริกา

.

สิ่งที่เราต้องเฝ้าดูและติดตามในรอบสัปดาห์นี้ ที่ยังคงน่าเป็นห่วง หนีไม่พ้นสถานการณ์ความหนาแน่น ของท่าเรือหลักในภูมิภาคยุโรปและภูมิภาคอเมริกาเหนือ เนื่องจากต้องเตรียมรับมือกับสินค้าจำนวนมหาศาลจากประเทศจีน ทั้งที่ตัวเองกำลังอยู่ในสภาพเหมือนคนจมน้ำ และเหลือแค่จมูกที่ยังปริ่มน้ำไว้หายใจ !!!

.

อย่างที่ท่าเรือหลักของประเทศสหรัฐอเมริกา อย่าง USLAX ที่หลายคนยังคงกังวลไม่น้อย เนื่องจากต้องเตรียมการรับมือกับตู้สินค้ามากกว่า 130,000 TEU ที่มีกำหนดจะเดินทางไปถึง ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งถือว่าจำนวนสูงขึ้น ร้อยละ48 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

.

รวมถึง ท่าเรือ DEHAM ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของประเทศเยอรมัน ที่กำลังประสบกับปัญหาท่าเรือเป็นคอขวด จนมีการจำนวนตู้สินค้าตกค้างและเรือที่รอเทียบเป็นจำนวนมาก แถมต้องมาเจอกับการเตรียมนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานท่าเรือกลาง อันเนื่องจากปัญหาการเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง ซึ่งหากผลออกมา ไม่เป็นที่น่าพอใจ ทุกท่าเรือในประเทศเยอรมันจะกลายเป็นอัมพาตทันที

.

ซึ่งอย่างที่ทุกคนในแวดวงนำเข้า-ส่งออกทราบกันดีว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่เราๆต่างกำลังประสบ ส่วนหนึ่งเริ่มมาจากปัญหาความหนาแน่นของท่า  และอะไรจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ หากสินค้าจากจีนล็อตหลังการเปิดเมืองเซี่ยงไฮ้ เดินทางไปถึง โดยที่ท่าเรือหลักในสองภูมิภาคนี้ ยังไม่สามารถเคลียร์ตัวเองได้ทัน ???

.

ที่เล่ามา คือการสรุปภาพรวมสถานการณ์ และแนวโน้มต่างๆ ในแวดวงนำเข้า-ส่งออกของพวกเรา ซึ่งจะเห็นว่าช่วงเวลานี้ ยังคงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสำหรับเราๆพอสมควร และพวกเราชาว ZUPPORTS ขอเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับทุกคน ในการก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากเย็นไปด้วยกัน

.

สัปดาห์นี้ขอลาไปก่อน สวัสดี บุญรักษาทุกท่าน

 

=========================

ไม่พลาดทุกข่าวสาร วงการขนส่งระหว่างประเทศ นำเข้า ส่งออก

เข้าร่วมกลุ่มที่ https://bit.ly/3seJRLk

=========================

 

ข่าวดี! เพื่อนๆ ในวงการนำเข้าส่งออก ขนส่งระหว่างประเทศ ที่กำลังมองหาโอกาศดีๆ ในการเข้ามา เพื่อพัฒนาเปลี่ยนแปลงวงการนี้

.

พร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผู้ประกอบการไทย ให้ขยายธุรกิจ เติบโต ไปสู่ระดับภูมิภาค หรือแข่งขันในระดับโลกได้

.

แอดมินขอแนะนำสตาร์ทอัพไทย “ZUPPORTS” ที่มีเป้าหมาย ที่จะทำให้การนำเข้าส่งออก ขนส่งระหว่างประเทศ เป็นเรื่องง่ายๆ เหมือนการช้อปปิ้งออนไลน์

.

ปัจจุบันทีมงาน ZUPPORTS กำลังมองหาเพื่อนร่วมงาน หลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น

.

  1. Accounting ผู้มีประสบการณ์ ดูแลงานบัญชี มีความรู้เชี่ยวชาญ ทั้งฝั่งขารับ และขาจ่าย ธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศ

.

  1. Fullstack software developer/Front-end/Back-end

…คนที่อยากมาสร้าง Product เพื่อปฏิวัติวงการขนส่งระหว่างประเทศด้วยกัน

…คนที่มีประสบการณ์ PHP, Laravel, MySQL, Vue.JS, Nuxt.JS

เคยดูแล Cloud service หรือเคยทำ software ขนส่ง คลังสินค้า

.

3) Sales / Sales Coordinator

…คน ที่มีประสบการณ์ขายแบบ B2B หรือ อยู่ในแวดวงการธุรกิจ ซอฟต์แวร์ หรือ ธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศ ก็ได้ หากเคยทำงานในสาย เฟรทฟอร์เวิร์ดเดอร์ หรือสายเรือ มาก่อน เหมาะกับงานนี้มากๆ

.

ใครสนใจอย่ารอช้าเปิดรับหลายอัตรา ส่งข้อมูลมาได้เลยที่

https://bit.ly/3lEBK6Q

ข่าวสารอื่นๆ