[Freight Weekly] อัพเดตสถานการณ์ขนส่งระหว่างประเทศ ประจำวันที่ 11-15 กรกฎาคม 2565 กับ ZUPPORTS เมื่อโลกยังไม่สามารถ Move On จาก Port Congestion และ Covid-19 !!!

กลับมาพบกันเหมือนเช่นเคยทุกสัปดาห์ กับการรายงานสถานการณ์ ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวในแวดวงการนำเข้า-ส่งออก ในภาคการขนส่งสินค้าทางเรือ กับพวกเราชาว ZUPPORTS

.

โดยในสัปดาห์นี้ ถือว่าเป็นสัปดาห์ที่ค่อนข้างท้าทายชีวิตคนทำงานอย่างเราๆพอสมควร ก็เนื่องจากในสัปดาห์มีวันหยุดของภาคราชการถึง 5 วันติดต่อกัน ในขณะที่ในภาคเอกชนหยุดเพียงวันเดียว และด้วยงานของเราๆมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประสานงานกับทางหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพิธีการศุลกากร รวมไปถึงเรื่องงานเอกสารประกอบการนำเข้าหรือส่งออกต่างๆ ดังนั้นต้องเตรียมตัวล่วงหน้าพอสมควร

.

ยังคงเป็นอีกสัปดาห์ที่เราต้องมาตามกันต่อในส่วนของ ความคืบหน้าในการเจรจาสัญญาแรงงานฉบับใหม่ ระหว่างสหภาพแรงงานท่าเรือฝั่งตะวันตก หรือ ILWU กับสมาพันธ์ผู้ให้บริการท่าเรือและสายการเดินเรือฝั่งแปซิฟิก หรือ PMA (Pacific Maritime Association) ซึ่งสัญญาฉบับเดิมหมดลงไปเมื่อ วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

.

ซึ่งยังคงมีสัญญาณดีอยู่บ้างตรงที่ เจ้าหน้าที่ของทุกท่าเรือฝั่งตะวันตก ยังคงที่จะปฏิบัติงานต่อแม้เลยเวลาเส้นตายมาแล้ว หากแต่บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกหลายรายในสหรัฐอเมริกา ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาข้อยุติ เนื่องจากยิ่งปล่อยไว้นานก็ไม่ต่างจากระเบิดเวลา

.

รวมถึงสถานการณ์ความหนาแน่นของแต่ล่ะท่าเรือหลัก ที่ยังคงตามหลอกหลอนคนในวงการนำเข้า-ส่งออก โดยอย่างที่เราทราบกันว่า หลายปัญหาในภาคการขนส่งที่เรากำลังประสบกัน ไม่ว่าการขาดแคลนตู้สินค้า ,พื้นที่ระวางขนส่งหดหาย รวมถึงปัญหาตารางเดินเรือไม่นิ่ง ล้วนเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ที่มาจากปัญหาความหนาแน่นของท่าเรือทั้งสิ้น

.

ทั้งนี้ปัญหาความหนาแน่นของแต่ละท่าเรือหลักในปัจจุบัน มีสาเหตุหลักๆมาจาก การขาดแคลนในด้านแรงงานและอุปกรณ์ในภาคขนส่ง จึงทำให้เกิดปัญหาคอขวดในการไหลผ่านตู้สินค้าจากท่าเรือกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ จนเกิดการตกค้างและสะสมของตู้สินค้าในท่าเป็นจำนวนมาก

.

ดังนั้น ปัญหาเรื่องความหนาแน่นของท่าเรือหรือ Port Congestion ดูจะอยู่กับเราไปอีกนานไม่แพ้เรื่องของโควิด 19 จนหลายคนเริ่มที่จะปล่อยวางและรอให้มันเป็นไปตามสภาวการณ์ !!!

.

เกริ่นมาเสียยาว หากทุกคนพร้อมกันแล้ว ตามพวกเราชาว ZUPPORTS มาไล่เรียงทีละประเด็นกันเลย

.

=========================

ZUPPORTS ควบคุมต้นทุนขนส่งผ่านระบบเปรียบเทียบราคาเฟรทออนไลน์

สนใจลงทะเบียนทดลองใช้งานฟรี ที่ www.ZUPPORTS.co/register

=========================

1) เปิดประเด็นแรก ด้านสถานการณ์การจองพื้นที่ระวางขนส่งหรือการบุ๊คกิ้ง พื้นที่ระวางยังคงหุบเหลือน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

.

ทางด้านภาพรวมการจองพื้นที่ระวางขนส่งหรือการบุ๊คกิ้งสเปชเรือ ในหลายเส้นทางการขนส่งยังคงแน่นและตึงพอสมควร โดยเฉพาะงานขนส่งไปยังภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ ที่หลายคนประสบปัญหาจองเรือไม่เข้า และต้องทำการจองล่วงหน้าอย่างน้อย 3-4สัปดาห์

.

เนื่องจากหลายสายการเดินเรือประสบกับปัญหาเรือแม่ไม่สามารถกลับมาเข้าตามรอบเรือของตนได้ทัน จึงทำการปล่อยตารางเรือว่างหรือ Blank Sailing หรือประกาศข้ามไม่เข้าบางท่าเรือหรือ OMIT/SKIP ซึ่งเป็นเหตุให้รอบเรือที่ให้บริการหุบเหลือน้อยลง

.

รวมไปถึง เส้นทางขนส่งไปยัง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลางหรือ Middle East Trade ที่ยังค่อนข้างแน่นต่อเนื่องพอสมควร เนื่องจากความต้องการคำสั่งซื้อสินค้าปริมาณมากในช่วงพิธีสำคัญของชาวมุสลิม และทำให้เส้นทางการขนส่งไปยังเอเชียใต้ หรือ Indian Sub-Continent แน่นตามไปด้วย เนื่องจากหลายสายการเดินเรือ มักจับทั้งสองภูมิภาคมาไว้ในเส้นทางขนส่งเดียวกัน จึงทำให้พื้นที่ของงานเอเชียใต้ถูกเบียดบัง

.

ในขณะที่หลายเส้นทางการขนส่ง อย่างภายในภูมิภาคเอเชียหรือ Intra Asia พื้นที่ระวางขนส่งถือว่าเปิดโล่งและพอจะดูดีกว่าเส้นทางขนส่งอื่นๆ การจองเรือกับสายการเดินเรือขนาดกลางที่ให้บริการเส้นทางสายใน ระยะใกล้หรือ Short Haul Service ยังคงพอมีลุ้นมากกว่าจองเรือกับสายการเดินเรือขนาดใหญ่ เนื่องจากสามารถทำการหมุนวงรอบของเรือได้ดีกว่า

.

หากแต่ในบางสายการเดินเรือ พื้นที่ยังคงเปิดโล่งและเปิดรับการจอง เนื่องจากการขาดแคลนตู้สินค้าหรือไม่เพียงพอให้ใช้สำหรับงานขาออก ดังนั้นหลายคนจะยังคงได้รับบุ๊คกิ้งยืนยันการการจอง หากแต่ต้องไปลุ้นหรือวัดดวงตอนรับตู้เปล่าที่ลานเอาเอง

.

บุ๊คกิ้งที่ปล่อยออกมาในช่วงนี้ ส่วนมากจะยังคงเป็นการจองเรือภายใต้ FAK และ SPOT Rate เนื่องจากพอมีลุ้นเรื่องพื้นที่ระวางหรือ Allocation มากกว่าการจองเรือภายใต้ Service Contract /NAC Bullet ต่างๆ

.

อย่างไรก็ตามช่วงนี้จะยังคงไม่ใช่เวลาที่ดีสำหรับคนที่ส่งออกสินค้าประเภทวัตถุอันตรายหรือ DG Cargo เนื่องจากพื้นที่ระวางขนส่งของแต่ละสายการเดินเรือยังคงมีอยู่จำกัด จึงไม่มีความจำเป็นต้องเล่นของยากเพื่อแบกความเสี่ยงมาไว้บนเรือ รวมถึงบางสายการเดินเรือระงับการขนส่งสินค้าประเภทวัตถุอันตรายหรือสารเคมีบางชนิด ในเส้นทางขนส่ง เข้า-ออก บางท่าเรือของประเทศจีน

.

*******

2) ทางด้านสถานการณ์การจัดหาตู้สินค้า ภาวะการขาดแคลนยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่กวนใจ

.

ในด้านภาพรวมของการจัดหาและการหมุนเวียนของตู้สินค้า แม้ว่าจะเริ่มมีความคล่องตัวมากขึ้นจากช่วงการล็อคดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ หากแต่ทั่วโลกยังคงจะประสบกับปัญหาภาวะการขาดแคลน โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ไม่ติดทะเลหรืออยู่ในแนวลึกเข้าไปตอนกลางของแต่ละภูมิภาค ซึ่งดูจะไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นหรือทุเลาในเร็ววัน

.

ทั้งนี้ก็เนื่องจากปัญหาในการขาดแคลนในภาคแรงงานและอุปกรณ์ในการขนส่ง ทั้งทางรางและทางรถ จึงทำให้ระบบการขนส่งเกิดเป็นคอขวดและไม่ไหลเวียนอย่างที่ควรจะเป็น

.

อย่างเช่นในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา ที่กำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานและทรัพยากรในภาคขนส่งอย่างหนัก อย่างที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัญหาการขาดแคลนหางเทรลเลอร์หรือแชสซีวางตู้รวมถึงแคร่รถไฟวางตู้ กำลังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นลามมาแบบปฏิกิริยาลูกโซ่ ทั้งปัญหาความหนาแน่นของท่าเรือปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าในส่วน IPI

.

ทั้งนี้ ปัญหาความหนาแน่นของท่าเรือหลักทั่วโลก และพื้นที่ระวางเรือที่มีจำกัด เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตู้สินค้าขาดแคลนหรือไม่สามารถหมุนเวียนได้คล่องตัว โดยเฉพาะตามท่าเรือใหญ่ที่เป็นประตูหลัก อย่าง USLAX/ USOAK/ NLRTM/ DEHAM/ CNNGB/ SGSIN

.

บรรดาสายการเดินเรือจึงเลือกลำดับความสำคัญ โดยการหยิบตู้หนักที่มีสินค้าหรือตู้หนักขึ้นเรือก่อนและทิ้งตู้เปล่าไว้ ดังนั้นจึงเกิดภาวะที่ตู้สินค้าเปล่าจำนวนมากจึงไม่สามารถไหลกลับเข้าสู่ระบบในภูมิภาคเอเชียได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งอย่างกรณีล่าสุด พบว่าที่ท่าเรือหลักอย่าง NLRTM มีตู้เปล่าตกค้างทิ้งไว้ที่ท่าอย่างน้อย 5-7 รอบเรือ ที่ไม่สามารถขนกลับออกมาได้ตามแผน !!!

.

ขณะที่ในบ้านเราเอง สถานการณ์ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่าฝืดเคือง แต่ไม่ขาดแคลนหนักหนาเหมือนช่วงปีที่แล้ว หลายสายการเดินเรือ หลายลานตู้ ยังพอที่จะถูไถ บริหารจัดการคัดและปล่อยตู้เปล่าหมุนเวียนได้ระดับหนึ่ง ซึ่งอาจมีบ้างในหลายสายการเดินเรือ มีภาวะการขาดแคลนตู้สินค้าเป็นบางประเภท หากแต่ยังพอมีตู้ขาเข้าพอที่จะหล่อเลี้ยงได้บ้าง

.

ทั้งนี้ในภาพรวมการหมุนเวียนของตู้สินค้าในบ้านเรา ยังคงอยู่ในทิศทางที่ขึ้นกับปริมาณงานของฝั่งขานำเข้าเสียเป็นส่วนใหญ่

.

*******

3) ทางด้านสถานการณ์ตารางเดินเรือและระยะเวลาในการขนส่ง

.

ในด้านภาพรวมของตารางเดินเรือและระยะเวลาในการขนส่ง ทั่วโลกจะยังคงประสบปัญหาความไม่เสถียรและไม่มีความแน่นอนกันต่อไป โดยปัญหาที่ทุกคนกำลังประสบ ก็หนีไม่พ้นเรื่องของความล่าช้าทั้งวันเรือออกและวันเรือถึง หากแต่ที่เห็นชัดเจน คือการที่แต่ละสายการเดินเรือมีการประกาศตารางเรือว่าง หรือ Blank Sailing

.

เฉพาะแค่ในสัปดาห์แรกของเดือน กรกฎาคม ทุกสายการเดินเรือ มีการประกาศตารางเรือว่างหรือ Blank Sailing รวมกันกว่า 17รอบเรือ ในเส้นทางขนส่งข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือหรือ Trans-Pacific หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของพื้นที่ระวางที่หายไปในเส้นทางนี้ ละอาจมีการประกาศเพิ่มในสัปดาห์ต่อไป

.

รวมไปถึงเส้นทางขนส่งไปยังภูมิภาคหลักอื่นๆ อย่างเส้นทางจากภูมิภาคเอเชียไปยังยุโรป ที่หลายสายการเดินเรือมีการประกาศตารางเรือว่างออกมาเป็นระยะๆ ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจาก แต่ละสายการเดินเรือต่างประสบกับปัญหาเรือไปกองรวมกันตามท่าเรือหลักต่างๆเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหน่วงไว้หรือชะลอไม่ให้รอบเรือไปจี้กันเกินไป

.

ขณะเดียวกัน ในมุมของผู้นำเข้า-ส่งออก มองว่า การปล่อยตารางเรือว่างหรือ Blank Sailing คือกลยุทธ์อย่างหนึ่งของสายการเดินเรือและตัวแทนรับขนส่ง ในการดึงอุปทานในการขนส่งให้ต่ำลง เพื่อรักษาระดับของค่าระวางขนส่ง ตามหลักกลไกทางการตลาดเรือ

.

ซึ่งหากมองกันตามความจริง ในมุมของผู้ประกอบการและคนทำงาน ทั้งเรื่องค่าระวางขนส่งที่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง หรือเรื่องตารางเดินเรือที่ไร้ซึ่งความน่าเชื่อถือ หรือการไร้ซึ่งความแน่นอน ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคในธุรกิจและการทำงานทั้งสิ้น และที่แย่กว่านั้นคือ การไม่มีวี่แววการทุเลาของปัญหา !!!

.

*********

4) ทางด้านสถานการณ์ค่าระวางขนส่งหรือค่าเฟรท ยังกดต่ำลงไม่แรงดั่งใจหวัง

.

ภาพรวมค่าระวางขนส่งหรือค่าเฟรท ในหลายเส้นทางการขนส่ง ราคาตลาดที่ปล่อยลอยตัวยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับราคาค่าระวางขนส่งในรูปแบบของสัญญาระยะยาวหรือ Service Contract /NAC Bullet ต่างๆ ดังนั้นบรรดาผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย เลี่ยงมาทำการจองเรือภายใต้ราคาต่อรองระยะสั้น รวมถึงจองเรือผ่านราคาเฉพาะกิจหรือ SPOT Rate/ SPOT Shipment

.

เนื่องจากในหลายเส้นทางการขนส่ง ราคาค่าระวางแบบ ระยะสั้นรายสัปดาห์และแบบ SPOT ต่ำกว่าค่าระวางขนส่งแบบ Service Contract ค่อนข้างมาก แถมพื้นที่ระวางเปิดกว้างกว่า เหตุเพราะ Service Contract ของหลายคนมีการผูกจำนวน TEU ต่อรอบเรือไว้ จึงทำให้ไม่สามารถทำการเพิ่มจำนวนตู้ได้ในกรณีที่ใช้โควต้าในรอบเรือนั้นๆครบแล้ว

.

หากแต่ในบางเส้นทาง อย่างเส้นทางไปยังภูมิภาค ยุโรปล่างหรือ MED รวมถึงเอเชียใต้หรือ Indian Sub-Continent ค่าระวางขนส่งยังคงทรงตัว และแนวโน้มการอ่อนตัวของราคาค่อนข้างต่ำ เนื่องจากพื้นที่ระวางขนส่งที่ค่อนข้างบีบตัวและหดเหลือน้อยลง

.

รวมถึงยังมีปัจจัยอื่น อย่างราคาค่าน้ำมันเชื้อเพลิงโลก ที่ยังค้ำไม่ให้ราคาค่าระวางขนส่ง ไหลลงเร็วอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งหากลองทำการแยกค่าระวางขนส่งแบบเหมารวมหรือ All In ออกมา จะพบว่า ตัวเนื้อค่าระวางมีการปรับลดก็จริง หากแต่ตัวค่าเชื้อเพลิงเรือหรือ Bunker รวมถึงค่าธรรมเนียมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิง กลับมีการปรับตัวขึ้นทุกเดือนตามราคาตลาด นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมราคาค่าระวางจึงไปลงแรงดั่งใจ

.

ขณะที่ค่าระวางขนส่งในบ้านเรา เริ่มล้อไปตามกลไกราคาค่าขนส่งโลก โดยในหลายเส้นทางมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หากแต่ ราคาค่าระวางขนส่งภายใต้ SPOT Rate อาจไม่ได้แตกต่างจากการจองเรือภายใต้ Service Contract เหมือนแบบภูมิภาคอื่นสักเท่าไร เนื่องจากสถานการณ์การขาดแคลนตู้สินค้าและพื้นที่ระวางที่มีจำกัด

.

ดังนั้นประเด็นหลักในบ้านเราจึงอยู่ที่พื้นที่ระวางขนส่งมากกว่าเรื่องราคาค่าระวางขนส่ง หรือพูดง่ายๆคือ ต่อให้เรทดีแค่ไหน แต่ถ้าบุ๊คไม่เข้า ก็ไม่มีประโยชน์ !!!

.

*******

5) ด้านสถานการณ์ความหนาแน่นของท่าเรือทั่วโลก ยังคงอบอุ่นหนาแน่นไม่เสื่อมคลาย

.

ทางด้านภาพรวมความหนาแน่นของท่าเรือทั่วโลก ยังคงอยู่ในจุดที่ถือว่ายากจะเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือหลักในภูมิภาค ยุโรป,อเมริกาเหนือรวมถึงท่าเรือหลักในภูมิภาคเอเชีย อย่าง SGSIN/ MYPKG/CNNGB หรือแม้กระทั่งท่าเรือ THLCH ในบ้านเรา ที่เริ่มจะมีการสะสมของเรือและตู้สินค้าที่ท่า จนส่งผลกระทบต่อวันเรือออกล่าช้าขึ้น 3-4วัน

.

รวมถึงหลายท่าเรือยังคงเข้มงวดด้านมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสวิด 19 โดยการออกกฎบังคับใช้ให้ลูกเรือต้องแสดงผลตรวจหาเชื้อเป็นลบก่อนเข้าเทียบท่า จึงทำให้มีเรือสินค้าจำนวนมากต้องใช้เวลารอเทียบท่าและกองรวมกันนอกชายฝั่ง

.

ในด้านภาพรวมของภูมิภาคอเมริกาเหนือ ท่าเรือทั้งสองฝั่ง ยังสภาวะทรงตัว หลายท่าเรือยังคงมีจำนวนเรือรอเข้าเทียบท่าสะสมและไม่ต่างจากสัปดาห์ก่อนสักเท่าไร โดยหลักๆแล้วยังคงประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานและหางเทรลเลอร์หรือแชสซีในการวางตู้สินค้า รวมถึงปัญหาการติดขัดในการขนส่งทางรางเข้าไปในส่วน IPI ต่างๆ จึงยิ่งทำให้การระบายสินค้าในหลายท่าเรือค่อนข้างล่าช้า

.

อย่างท่าเรือหลักฝั่งตะวันออก USEC (USNYC/ USCHS/ USSAV) ที่ดูแล้วค่อนข้างหนาแน่น มีเรือรอเทียบท่าประมาณ 75-80 ลำ โดยเฉพาะที่ USSAV มีถึงเกือบ 50ลำ  . โดยเรือใช้เวลารอเข้าเทียบรวมถึงใช้เวลาในการปฏิบัติงานขนถ่ายอยู่ที่ 10- 14 วัน.( เฉพาะที่ USNYC ใช้เวลารอมากกว่า 20วัน)

.

ทางด้านในส่วนฝั่งตะวันตก USWC (USSEA/ USTIW/ USOAK ) เริ่มอยู่ในภาวะที่ทรงตัว. โดยมีเรือรอเข้าเทียบและเทียบที่ท่าแล้วประมาณ 30 -35 ลำ. และใช้เวลารอเข้าเทียบท่ารวมถึงเวลาในการขนถ่ายอยู่ที่ 3-7 วัน (เฉพาะที่ USOAK ใช้เวลามากกว่า 20-30 วัน). ถัดมาในส่วนของท่าเรือฝั่งอ่าวหรือ Gulf port MID West อย่าง USHOU ที่ยังถือว่าหนักหนาสาหัสพอสมควร มีโดยปริมาณเรือทั้งที่เข้าเทียบแล้วและที่รอเข้าเทียบขนถ่าย สะสมกว่า 75-80 ลำ

.

ในส่วนของท่าเรือหลักที่มีความหนาแน่นที่สุดอย่าง (USLAX/ USLGB) ยังคงอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าน้ำท่วมจมูก ไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง โดยมีเรือรอเข้าเทียบท่าประมาณ 70-75 ลำ (แบ่งเป็นอยู่ในรัศมี 25ไมล์ทะเลกว่า 45-50ลำ และอยู่นอกเขต SAQA Zone ประมาณ 20-25ลำ)  และใช้เวลารอเทียบท่าอยู่ที่ 14 -22 วัน

.

ในขณะที่ท่าเรือหลักในภูมิภาคยุโรป ยังคงหนักหน่วงเช่นกัน และทุกท่าเรือยังคงอยู่ในจุดที่ค่อนข้างเปราะบางต่อสถานการณ์การนัดหยุดงาน เนื่องจากปัญหาเรื่องสัญญาจ้างและการประท้วงรัฐบาลของประเทศต่างๆ โดยสามท่าหลักที่เป็นประตูของภูมิภาคยุโรปอย่าง NLRTM/ DEHAM/ BEANR ที่มีเรือสินค้ารอเข้าเทียบท่าอยู่รวมกัน มากกว่า 800ลำ โดยที่หนักสุดยังคงเป็นที่ NLRTM โดยมีเรือสินค้ารอเทียบประมาณ 370- 380 ลำ

.

ทางด้านท่าเรือหลักในภูมิภาคเอเชีย ที่ประเทศจีน ท่าเรือหลักอย่าง CNSHA สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้เกือบร้อยละ95 และสามารถทำการระบายทั้งเรือและสินค้าได้ดี โดยมีเรือสินค้ารอรอบบริเวณท่าและที่เทียบท่าแล้ว ประมาณ 6300 -6400ลำ ในขณะที่ท่าเรือใกล้เคียงอย่าง CNNGB ยังคงอยู่ในภาวะสาหัส โดยมีเรือสินค้าอยู่ที่ท่าและรอเข้าเทียบมาก กว่า 1000ลำ และใช้เวลารอเทียบท่าอยู่ที่ 4- 7 วัน ซึ่งผู้ประกอบการหลายคนมีการเลี่ยงหนีไปที่ CNSHA แทน ไม่ว่าจะเป็นงานที่นำเข้าหรือส่งออก

.

และสุดท้ายในส่วนของท่าเรือหลักตอนล่างของประเทศจีนอย่าง HKHKG/ CNSHK/ CNYTN โดยเริ่มที่จะทุเลาความหนาแน่นได้บ้าง หลังการคลายล็อคเมืองเซี่ยงไฮ้ ยกเว้นที่ HKHKG ซึ่งยังคงถือว่าค่อนข้างตึงและหนาแน่นพอสมควร โดยมีเรือรอเข้าเทียบและอยู่ในบริเวณท่าเรือ กว่า 1,000ลำ เนื่องจากทางการ ยังคงตรึงมาตรการควบคุมการขนส่งสินค้าข้ามแดนที่มาจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ รวมถึงมีการสะสมของเรือในช่วงที่ไต้ฝุ่นชบาพัดผ่าน จึงทำให้การไหลตู้สินค้าไม่คล่องตัวเท่าที่ควร

.

*******

6) สถานการณ์รอบสัปดาห์ที่ต้องจับตามอง คงยังหนีไม่พ้นความหนาแน่นของท่าเรือหลักและไวรัสโควิด 19!!!

.

ประเด็นและสถานการณ์สำคัญที่เราต้องให้ความสนใจ คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ความหนาแน่นของท่าเรือ ทั้งในภูมิภาคยุโรป และอเมริกาเหนือ ไม่เว้นแม้แต่ในภูมิภาคเอเชียเอง เนื่องจากปัญหาดังกล่าว หนักหนาขนาดที่ว่าทำให้วงจรระบบการบริหารจัดการกระจายสินค้าและการขนส่ง ล่มแบบพังพินาศ ชั้นวางสินค้าในหลายที่โล่งแบบไม่เคยเป็นมาก่อน จนหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ต้องหยิบเอามาเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขแบบเร่งด่วน

.

รวมถึงอีกปัญหาใหญ่ ที่เราเองยังไม่สามารถ Move On จากมัน นั่นคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 สายพันธ์ล่าสุด ที่กำลังกลับมาระบาดระลอกใหม่ในหลายๆประเทศรวมถึงประเทศจีน ซึ่งแน่นอนว่าทางการจีนยืนยันชัดเจนในการยังคงนโยบาย ZERO COVID-19 จนหลายคนเริ่มกังวลถึงเรื่องการล็อคดาวน์เมืองใหญ่เหมือนที่ผ่านมา

.

ซึ่งล่าสุด ทางเขตบริหารพิเศษ มาเก๊า มีประกาศปิดเมืองอีกครั้งเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น และหากมีการประกาศล็อคดาวน์เมืองใหญ่เพิ่มเติม โดยเฉพาะตามเมืองท่าหลักอีกสักสองสัปดาห์หรือหนึ่งเดือน แน่นอนว่ามรสุมชีวิตจะกลับมาโถมคนในแวดวงนำเข้า-ส่งออกอีกครั้ง และจะลามกลายเป็นวิกฤติของวงจรการกระจายสินค้าของโลกแบบปีที่ผ่านมา

.

ดูเหมือนนี่จะเป็นการเปิดเข้าสู่ไตรมาสที่สาม แบบที่ไม่ค่อยสวยงาม รวมถึงหลายสถานการณ์แวดล้อม ยังไม่ค่อยเป็นใจสำหรับคนในแวดวงนำเข้า-ส่งออก อย่างเราๆสักเท่าไร อย่างไรเสีย ทางพวกเราชาว ZUPPORTS หวังว่า สรุปข่าวและภาพรวมแนวโน้มต่างๆในรอบสัปดาห์ จะพอเป็นไม้เท้าให้เพื่อนๆหรือผู้ประกอบการหลายท่าน ใช้เป็นข้อมูลตัวช่วยในการพยุงเดินไปด้วยกันในช่วงเวลาที่ไม่เป็นใจเช่นนี้

.

สัปดาห์นี้ขอลาไปก่อน ขอบุญรักษาทุกท่าน สวัสดี.

.

=========================

ไม่พลาดทุกข่าวสาร วงการขนส่งระหว่างประเทศ นำเข้า ส่งออก

เข้าร่วมกลุ่มที่ https://bit.ly/3seJRLk

=========================

 

ข่าวดี! เช็คราคาขนส่งระหว่างประเทศ ง่ายๆ

ผ่านระบบ ZUPPORTS

https://www.facebook.com/100059556852446/posts/382302773764948/?d=n

.

สิ่งที่น่าปวดหัว สำหรับ เพื่อนๆ ผู้นำเข้าส่งออก ประเด็นหนึ่งก็คือ ราคาขนส่งระหว่างประเทศ หรือ ราคาเฟรท ที่เปลี่ยนแปลง ตลอดเวลา ไม่รู้ว่าเฟรท ที่เราจองไป มันถูก หรือแพงกว่าตลาด

.

แต่ทางแอดมินมีข่าวดี! จะบอกว่าปัจจุบัน ทางสตาร์ทอัพ อย่าง ZUPPORTS กำลังพัฒนา feature “Freight Rate Trends” หรือแนวโน้มราคาขนส่งระหว่างประเทศ เป็นเหมือน “แว่นขยาย” ให้เพื่อนๆ ชาว นำเข้าส่งออก ส่องได้ชัดๆ ว่าราคาเฟรท ที่ได้อยู่มันเหมาะสมหรือยัง

.

เพื่อนๆ ที่สนใจเข้าร่วม มาทดลองใช้ระบบในช่วง Soft Launch รีบลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ ทดลองใช้งานฟรี กันได้เลยที่

https://bit.ly/368GR84

ข่าวสารอื่นๆ