พอดีแอดมินได้มีโอกาสอ่านบทความที่ชื่อว่า “How Bad Times Bring Out the Best in People” ใน Harvard Business Review
(ซึ่งช่วงนี้เขาเปิดให้อ่านกันฟรี สำหรับบทความที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19)
ในบทความเปิดมาว่า ช่วงนี้เราอาจเห็นความบ้าคลั่งของผู้คน ที่แข่งกันกักตุนสินค้าเพื่อไปขายทำกำไร หรือ ยังมีอารมณ์ไปปาร์ตี้ สังสรรค์กันอยู่ โดยไม่หวาดกลัวเชื้อโรค
แต่ผู้เขียน คือ Bill Taylor ยังเชื่อว่า “สถานการณ์ที่แย่ๆ สามารถดึงส่วนที่ดีที่สุดของคนออกมาได้”
ผู้เขียน ยกตัวอย่าง เฮอริเคนแคทรีนา (Katrina) ในสหรัฐฯ ช่วงปี 2548 ที่ถือว่าเป็นพายุเฮอริเคน ที่สร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา…
เหตุการณ์เป็นอย่างไร เราไปติดตามกันเลย
════════════════
ช่วย SMEs นำเข้า–ส่งออก
════════════════
1) วันที่ 28 สิงหาคม ปี 2548 แคทรีนา ซึ่งสะสมพลังในอ่าวเม็กซิโก จนมีความเร็วลมสูงถึง 280 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งขึ้นฝั่งที่มลรัฐลุยเซียนา
หลังจากนั้นพายุได้เคลื่อนที่ผ่านเมืองนิวออร์ลีนส์ ไปทางตะวันออก ผ่านมิสซิสซิปปี และขึ้นเหนือไปทางแคนาดา
2) แคทรีนา เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่สร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในสหรัฐฯ โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,800 ราย และทรัพย์สินเสียหายกว่า 4 ล้านล้านบาท
พายุรุนแรงจนเขื่อนกั้นน้ำพังทลาย ทำให้พื้นที่ในเมืองนิวออร์ลีนส์และบริเวณโดยรอบจมน้ำ บางแห่งระดับน้ำสูงถึง 7 เมตร
เมืองทั้งเมือง จมน้ำ ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ทุกอย่างหยุดชะงัก ธนาคารหยุดทำการ ไม่ต้องพูดถึง ATM ที่ใช้การไม่ได้
เงินสดทั้งหมดจมอยู่ในน้ำ…
3) ณ ธนาคารท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ที่ชื่อว่าธนาคาร Hancock ก็ถูกน้ำท่วมพังพินาศไปด้วย
แต่ก็มีกลุ่มพนักงาน ที่ไหนจะต้องจัดการชีวิตตัวเอง และยังต้องช่วยลูกค้าด้วย ก็ได้ตัดสินใจ เก็บเงินสดที่จมน้ำอยู่ขึ้นมา เอาเงินมา ตากให้แห้ง และใช้ “เตารีด” รีดเงินให้แห้ง (ใช้เตารีดจริงๆ)
หลังจากนั้น พอประชาชนแห่มาที่ธนาคารเพื่อขอเงิน แต่ปัญหาใหญ่คือ ไม่มีไฟฟ้า และเอกสารต่างๆของประชาชนก็ไปกับพายุและน้ำ ทีนี้จะรู้ได้ยังไงว่าใครมีเงินในบัญชีเท่าไหร่?
4) ทางธนาคารก็เลยตัดสินใจใช้กลยุทธ์เดียวที่คิดออกช่วงนั้น ก็คือ “ความเชื่อใจ”
คือ ใครมาขอเงินธนาคาร Hancock ก็จัดให้หมด โดยกลับไปยุคก่อนคอมพิวเตอร์ คือใช้เพียงกระดาษจดบันทึกเอาไว้ ว่าใครเอาเงินไปเท่าไหร่ อยู่บ้านเลขที่อะไร รหัสประชาชนคืออะไร ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น ธนาคาร Hancock แจกเงินไปกว่า 1,500 ล้านบาท
5) หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ ผู้คนรากหญ้ายกย่องธนาคาร Hancock เป็นอย่างมาก
ธนาคารเองก็ได้รับเงินคืนกว่า 99.5%
หลังจากนั้น ถึงแม้คนที่ไม่เคยเป็นลูกค้าธนาคาร Hancock ก็เอาเงินมาคืน และเปิดบัญชีเป็นลูกค้าด้วยซะเลย
6) ทาง George Schloegel ซึ่งเป็น CEO ของธนาคาร Hancock กล่าวถึง ความคิดของประชาชนหลังเหตุการณ์นั้นก็คือ พวกเขาคิดว่า…
“คุณอยู่ที่นั่นเมื่อผมต้องการคุณ
ดังนั้นคุณคือธนาคารของผม”
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เงินฝากของธนาคาร Hancock เพิ่มขึ้นกว่า 5 หมื่นล้านบาท
7) ธนาคาร Hancock ได้ยึดถือแนวคิดที่ได้จากเหตุการณ์แคทรีนา เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจ ก็คือ
“Last-to-close-first-to-open”
คือ
“ปิดเป็นคนสุดท้าย เปิดเป็นคนแรก”
บทเรียนจากเหตุการณ์นี้คือ การที่ธุรกิจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นหรือไม่ได้เป็นลูกค้า สุดท้ายผลดีก็จะกลับมาหาธุรกิจเอง
นอกจากนี้จุดเริ่มต้น ก็คือ พนักงานธนาคารคนเล็กๆ ที่ไม่ได้ใหญ่โต แต่ก็ถือว่าเป็น “ผู้กล้า” ที่กลายเป็น “ฮีโร่” ได้
กลับมาถึงวิกฤตที่ประเทศไทยกำลังเผชิญครั้งนี้ คือ ภาวะเศรษฐกิจแบบต้มกบ ที่เจอปิดเกมส์ด้วย โควิด-19
สิ่งที่เราทำได้ (สำหรับให้ผ่าน โควิด-19 ไปก่อนละกัน) แอดมินมองเป็น 3 ส่วน ด้วยกัน คือ
1) การจัดการส่วนบุคคล/การใช้ชีวิตประจำวัน
แน่นอนว่า สิ่งที่ควรทำคือการ “รักษาระยะห่างทางสังคม” หรือ “Social Distancing” เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ หรือลดโอกาสการแพร่เชื้อให้กับคนที่เรารัก (โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวว่าเราติดเชื้อรึเปล่า)
คือ ศัตรู ครั้งนี้มันมองไม่เห็นจริงๆ
ดังนั้น ปลอดภัยไว้ก่อน
หากมีอาการคล้ายจะเป็นโควิด-19
ก็ป้องกันไม่ให้คนอื่นติด
อย่างที่คุณหมอบอกว่า วิธีการที่เราจะช่วยคุณหมอได้ ก็คือ การดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง และหากไม่ได้มีอาการหนักจริงๆ เช่น มีไข้สูง ไอรุนแรง หรือ หายใจแล้วเจ็บหน้าอก และไม่ได้มีประวัติสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยง แต่อาจมีอาการคล้ายหวัด ก็ให้กักตัวเอง อยู่ในบ้านดีกว่า
การออกไปจับจ่ายใช้สอย ก็ซื้อของพอประมาณ ไม่ต้องกักตุน จริงๆ แล้วเอาแค่อยู่ได้ 1 อาทิตย์ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ซึ่งแอดมินก็เพิ่งไปช้อป ที่แม็คโคร แถวบ้านมา คนก็เข้าแถวเป็นระเบียบ ไม่มีการแย่งชิงสินค้ากันนะ แล้วเท่าที่เห็นรถเข็นท่านอื่นๆ ก็ไม่ได้เรียกว่ากักตุนอะไรกันมากมาย
คือ คนไปซื้อเยอะเฉยๆ แต่ไม่ได้โกลาหล ไม่มีการด่าทอกัน ของไม่หมดจากชั้นแน่นอน (ของเยอะมาก)
งานสังคมต่างๆ ก็ควรยกเลิกให้หมด ไว้ค่อยฉลองกันหลังโรคเบาบางละกัน
หรือหากตรวจพบว่าตัวเองเป็น ก็ออกมาบอกสังคม เพื่อจะได้ตรวจเช็คคนรอบตัวที่เคยสัมผัส จะได้หยุดการแพร่เชื้อได้
(ขอชื่นชมดารา นักแสดง หลายๆท่าน)
และสุดท้าย คอยตรวจสอบสภาพจิตใจของคนในครอบครัว โดยเฉพาะหากสถานการณ์แย่ลงไปกว่านี้
แค่นี้ก็ถือว่า เป็น “ผู้กล้า” ระดับบุคคล/ครอบครัว แล้ว
2) การจัดการเรื่องงาน
อันนี้เราคงต้องกลับมาคุยกันในทีมว่าจะบริหารงานช่วงวิกฤตอย่างไร?
จริงๆ แล้วการเกิดวิกฤต ที่บีบให้คนต้อง Work from home และอาจมีโอกาสที่เพื่อนร่วมทีมอยู่ๆ อาจจะต้องเข้าโรงพยาบาล
ก็มีประเด็นหลายๆอย่างให้คิดนะ
ข้อหนึ่ง ก็คือ ทำให้แต่ละคนหลุดจากโลกการทำงานแบบหุ่นยนต์ หรือ ทำงานตามคำสั่งเหมือนระบบโรงงาน อุตสาหกรรม
.
แอดมินมองในแง่ดี ก็คือ คนพอมาทำงานที่บ้าน ก็ต้องบริหารเวลาตัวเองให้ได้ โดยเปลี่ยนจากแค่ทำงานไปวันๆ ตามคำสั่ง เป็นทำงานแล้ว ต้องได้ผลสำเร็จของงาน
.
และผู้บังคับบัญชาเอง ก็ต้อง “เชื่อใจ” ในทีมงาน
ข้อสอง วิกฤต ทำให้เราต้องเลือกทำเฉพาะงานที่สำคัญเท่านั้น นอกจากนี้ยังทำให้ทีมงาน ต้องทำงานแบบมีระบบมากขึ้น ไม่ใช่ one man show ตัวใครตัวมัน
.
ตัวอย่าง ที่เกริ่นไป คือ ลองคิดดูว่าหาก เพื่อนตัวท๊อป เกิดป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล หรือหัวหน้าทีมเกิดป่วย ทีมจะบริหารจัดการอย่างไร??
.
ซึ่ง ก็นำไปสู่การที่ต้องพิจารณาว่า กิจกรรมไหนเป็นกิจกรรมที่สำคัญ และควรต้องหาแผนสำรอง หาคนมาทำแทนกันได้ด้วย
ข้อสาม อันนี้อาจเป็นข้อเสีย สำหรับคนที่ไม่ได้ contribute ให้กับองค์กร หรือ บริษัท คือ หากอยู่บ้าน ส่งงานไม่ทัน แล้วบริษัทยังเดินต่อไปได้ พนักงานผู้นั้น ก็อาจร้อนๆ หนาวๆ ขึ้นมาได้ (คล้ายจะเป็น โควิด-19)
ซึ่งสำหรับระดับทีมงานหรือบริษัท เหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะเกิด ผู้กล้า หรือวีรบุรุษ ขึ้นมาแน่ๆ ที่จะพาทีมเดินหน้าต่อไปได้
3) การจัดการระดับประเทศ
แอดมินเชื่อเหลือเกินว่า ประเทศนี้ยังมีคนเก่งคนดี ที่พร้อมออกมาช่วยสังคม เหมือนกรณีศึกษาเฮอริเคนแคเทอรีน่า ของสหรัฐฯ อยู่อีกมาก
และคนเหล่านี้กำลังทำงานหนัก เพื่อช่วยแก้ปัญหาวิกฤต ครั้งนี้อยู่
ตัวอย่างที่ใกล้ตัวมากๆ คือ เพื่อนแอดมินคนหนึ่งที่อยู่ๆดี ก็มาโพสขายสเปรย์ล้างมือแอลกอฮอล์ โดยนำเข้ามาจากต่างประเทศ
ตอนแรกแอดมินก็คิดว่า…โห นี่ทุกคนจะเปลี่ยนเป็น Trader หากำไรในช่วงวิกฤตแบบนี้ จริงเหรอ?
แต่สุดท้าย เพื่อนก็ส่งต่อเงินสนับสนุนจากลูกค้า เอาไปบริจาคชุดป้องกัน โควิด-19 ให้โรงพยาบาลในไทยได้กว่า 1,000 ชุด…เป็นเงินหลักแสน
ยังมีตัวอย่างคนที่ออกมาช่วยกันอีกมาก ไม่ว่าจะช่วยมากหรือช่วยน้อย ก็ถือว่าดีทั้งสิ้น
ตอนนี้ ที่อยากเห็นเพิ่มเติม ก็คือ บริษัทต่างๆ ที่ยังพอมีกำลังทรัพย์ และมีความสามารถ ออกมาตรการมาช่วยเหลือผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholders โดยรอบด้วย
มองมุมหนึ่ง คือ “ถ้าลูกค้าอยู่ไม่รอด บริษัทก็คงไม่รอดด้วย…”
ธุรกิจมันล้มกันเป็นลูกโซ่
ซึ่งเราก็คงได้เห็นบริษัทออกมาช่วยมากขึ้น ในไม่ช้า
ตัวอย่างเช่น หากย้อนกลับไปช่วง “น้องน้ำ” หรือมหาอุทกภัย ปี 2554
ที่ตอนแรกรัฐบอกว่า “เอาอยู่” แต่เอาเข้าจริงก็ “เอาไม่อยู่”
ยังดีที่ เกิดฮีโร่ ทั้งบุคคลธรรมดา, หน่วยงานจิตอาสาต่างๆ, บริษัทเอกชน, และภาครัฐ ออกมาช่วยกันเต็มที่
ที่แอดมินจำได้แม่นคือ “รู้สู้ Flood” กลุ่มอาสาสมัคร ปลาวาฬ สีฟ้า ช่วงนั้นดังมาก และเสนอข้อมูลเป็นประโยชน์มากๆ
ตอนนั้น ทีมแอดมิน ในฐานะพนักงานบริษัทก็ได้ไปแพ็คของ และเป็นทีมกู้ภัยออกไปแจกของและรับเพื่อนพนักงานที่บ้านถูกน้ำท่วมด้วย
กลับมาที่ปัจจุบัน เราได้เดินเข้าสู่วิกฤติ ระดับนั้นแล้ว (อาจร้ายกว่าเพราะรอบนี้ มองไม่เห็นศัตรู)
ใครมีของดีก็งัดมาช่วยเหลือกันเถิด…
ในยามที่มืดมนที่สุด “แค่ทุกคนทะยอยช่วยกันจุดไม้ขีดคนละก้าน”
เราก็น่าจะผ่านวิกฤตที่ถือว่าใหญ่ที่สุด…
(อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตของแอดมิน)
ครั้งนี้ไปได้
เชื่อว่าทุกคน “มีของ” และพร้อมที่จะเป็น “ผู้กล้า”
#เราจะผ่านมันไปด้วยกัน
════════════════
ช่วย SMEs นำเข้า–ส่งออก
════════════════
ที่มา:
https://hbr.org/2020/03/how-bad-times-bring-out-the-best-in-people
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Hurricane_Katrina
https://thaipublica.org/2011/10/risk-communication-katrina-lessons/
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ กดติดตาม
“นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า”
❤️ ช่วย SMEs ก้าวไกลไปทั่วโลก
👫 ร่วมกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้า–ส่งออก