เจาะตลาดเวียดนาม

สรุปประเด็น ติวเข้มเจาะตลาดเวียดนาม

“ที่แย่ๆ ฝั่งไทย คือ ที่เติบโตฝั่งเวียดนามทั้งหมด”

เวียดนาม นี่คือ จีนนี่เอง (ในแง่เศรษฐกิจนะ)”

“ประชากรเวียดนามเติบโตปีละ 1 ล้านคน และขนชั้นกลางกำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่ง”

ทุกๆ ความเห็นเกี่ยวกับเวียดนาม ชี้ไปที่จุดเดียวคือ เวียดนาม คือ “ประเทศแห่งอนาคต” ที่เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโต…ได้อีกมาก

ซึ่งแอดมิน ได้มีโอกาสไปสัมมนากับเพื่อนๆ ผู้ประกอบการกว่า 500 ท่าน ทำความเข้าใจตลาดเวียดนาม ให้มากขึ้น

จึงสรุปประเด็นสำคัญ มาแชร์เพื่อนๆ ให้อ่านกันในโพสเดียว

หากพร้อมแล้วไปติดตามกันเลย

1) จุดเปลี่ยนของเวียดนาม เกิดขึ้นในปี 1986 ก็คือการที่รัฐบาลเวียดนามออกนโยบาย “Doi Moi Policy” (อ่านว่า โด่ยเหมย) มีใจความสำคัญ คือ

หนึ่ง เปิดเสรีการค้า รับการลงทุนจากต่างประเทศ

สอง เน้นการส่งออก

เวียดนาม เปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาสินค้าเกษตร มาเป็น การผลักดันเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรม ได้แก่ รองเท้า สิ่งทอ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

หลังจากนั้นมา รัฐบาลเวียดนาม ยังเดินเกมทำข้อตกลงการค้าเสรี FTA ทั้งระดับทวิภาคี และพหุภาคี ล่าสุด FTA กับสหภาพยุโรปมีผลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว…

โดยรวม เวียดนามทำ FTA ไปทั่วโลกกว่า 100 ฉบับ มีความพร้อมในการเป็นโรงงานผลิตของโลก…

2) เวียดนาม มีโครงสร้างประชากรวัยหนุ่มสาวและวัยแรงงานสูงมาก ประมาณ 60 ล้านคน จากประชากร 94 ล้านคน เทียบกับไทยมีประชากรวัยแรงงานเพียง 40 กว่าล้านคน

นอกจากนี้เวียดนามยังมีอัตราการเกิดของประชากรประมาณ 1% ต่อปี หรือตีกลมๆ คือ 1 ล้านคนต่อปี อายุเฉลี่ยเพียง 30 ปี

ที่สำคัญ คือ Middle Income หรือชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง เป็นตลาดที่น่าจับตา

3) ที่น่าสนใจมากๆ คือ หนี้ครัวเรือน เวียดนามอยู่ในระดับต่ำมาก ประมาณ 10% เทียบพี่ไทยซัดไป 80% นั่นหมายความว่า เวียดนามมีโอกาสกู้หนี้ยืมสิน มาซื้อของตอบสนองความต้องการอีกมาก

นอกจากนี้ GDP ต่อหัวยังต่ำกว่าไทย 3 เท่า หากคิดเอาแต่ว่า เวียดนามโตจน GDP ต่อหัวเท่าไทย และคูณจำนวนประชากร 1.5 เท่าเทียบไทย นั่นคือ ขนาดเศรษฐกิจที่จะใหญ่กว่าไทยได้อีกมาก

4) การที่นักธุรกิจหรือนักลงทุน จะเข้าไปทำธุรกิจ ในเวียดนาม ต้องมีความเข้าใจสภาพตลาด ในเวียดนามให้ดีก่อน โดยเบื้องต้น อาจแบ่งเป็น เวียดนามตอนเหนือ และเวียดนามตอนใต้ ตามภูมิศาสตร์

คนเวียดนามเหนือ (ฮานอย) เป็นคนประหยัด บางคนบอกมี 100 ใช้ 80

โดยเป็นคนที่ตัดสินใจซื้อของช้า มีการคำนึงถึงความคุ้มค่า ก่อนการซื้อของ แต่หากรักแล้ว ก็รักเลย ซื้อของซ้ำเดิมได้ หากคุณภาพและราคา โดนใจ

คนเวียดนามใต้ (โฮจิมินห์) ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย บางคนบอกมี 100 ใช้ 120 ชอบแฟชั่น เบื่อง่าย สินค้าที่จะเข้าไปขาย ต้องมีการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ หรือ รสชาติ ให้แปลกใหม่เสมอ เพื่อให้ล่อตาล่อใจ

5) เวียดนาม ไม่ได้ที่เฉพาะ ฮานอย กับ โฮจิมินห์ซิตี้ แต่หากไล่มา 4 เมืองใหญ่จากภาคเหนือ จรดใต้ ก็คือ

เหนือสุด – ฮานอย เป็นเมืองหลวง แหล่งศูนย์กลางการเมือง การปกครอง

กลาง – ดานัง เมืองท่องเที่ยว Banahill และสะพานมือทอง อันโด่งดัง บางคนบอกจะเป็น ภูเก็ต Killer

ใต้ – โฮจิมินห์ซิตี้ หรือชื่อเดิมคือ ไซ่ง่อน เป็นแหล่งศูนย์กลางการลงทุนและเศรษฐกิจ ที่สำคัญ GDP ของ 8 จังหวัดรอบโฮจิมินห์ซิตี้ รวมกัน มากกว่า 45% ของเวียดนาม

แม่โขงเดลต้า – นครเกิ่นเทอ ด้วยความที่เป็นที่รายลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ ทำให้เป็นเมืองเกษตรกรรม พืช ผักผลไม้ และอยู่ใกล้โฮจิมินห์ซิตี้ ประชากรมีกำลังซื้อ

6) สินค้าไทย คือ หนึ่งในดวงใจของคนเวียดนาม ด้วยภาพลักษณ์สินค้าคุณภาพดี ราคาสมเหตุสมผล

พ่อค้าแม่ค้าไทย ที่จะวาง Position สินค้าในเวียดนาม ควรคำนึงถึงจุดยืนนี้ ขายให้ราคาแพง (พรีเมี่ยม จะดี) อย่าไปแข่งราคากับจีน ที่สำคัญคือ สินค้าต้องโดดเด่น มีจุดขายเหนือคู่แข่ง

สินค้าอาหาร ยังไงคนเวียดนามเค้าก็เช็ค ว่าแบรนด์นั้นขายในไทยเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ประกอบการคงข้ามขั้นลำบาก ต้องพยายามทำให้สินค้ามีชื่อเสียงในไทยก่อน

นอกจากอาหาร เครื่องปรุงรส เครื่องดื่ม หรือกลุ่ม Horeca ก็จะมีเครื่องสำอาง Mask หน้า โดยเน้น “ทำให้ผิวขาว” ไว้ก่อน กันแดดให้เยอะๆ คุณสมบัติอื่นๆ ไม่ค่อยสนใจ

สินค้าที่เจาะตลาดได้อีกประเภท คือ Niche market เช่น ตลาดแม่และเด็ก และตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง

7) ช่องทางจัดจำหน่าย 30% คือ Modern trade พวกซุปเปอร์มาร์เกต ห้างค้าส่งขนาดใหญ่ และร้านสะดวกซื้อ ส่วน 70% ยังเป็นร้านค้าดั้งเดิม

เทรนด์หนึ่งที่โตมาก็คือ ร้านสะดวกซื้อ Convenience Store (CVS) ปัจจุบันมีจุดขายกว่า 5,300 แห่งแล้ว มีบางแบรนด์ เช่น VinMart ตั้งเป้าเปิดให้ได้ 10,000 สาขา (ที่เวียดนาม 7-eleven ไม่ใช่เจ้าใหญ่)

8) e-commerce มาแรงมากๆ เงินกำลังหมุนไป โดยเฉพาะ Social Commerce และ Chat based commerce เวียดนามตามไทยมาติดๆ

แอปพลิเคชัน สำคัญ เอาไว้ค้าขาย

Social Media: Facebook

Chat: Zalo (คล้าย Line แต่เป็นของเวียดนาม)

e-commerce: Shopee Lazada Tiki

9) ไปเวียดนาม ต้องมีพาร์ทเนอร์ สำคัญมากๆ เพราะธุรกิจหลายๆ อย่างเช่น โลจิสติกส์ เขาสงวนไว้ให้คนท้องถิ่นทำ คนต่างชาติคิดจะขออนุญาต รอไป 3 ปี

การเลือกตัวแทนจำหน่าย ต้องคัดเลือกดีๆ ห้ามให้สิทธิตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว หากยังไม่รู้ฝีมือกัน

การรวมกลุ่มคนไทนด้วยกันเจาะตลาดเวียดนาม ก็เป็นสิ่งที่ดี

10) การเจรจาสื่อสารกับ คนเวียดนาม ต้องพูดให้ชัดเจน ประชุมเสร็จแล้ว ก็ต้องให้ฝ่ายตรงข้าม สรุปประเด็นว่า เข้าใจตรงกันไหม

การทำธุรกิจใช้หลักการ “Build Trust, Show Respect” ค่อยๆ คุย ค่อยๆ เปิดข้อมูล

11) สิ่งที่ไม่ควรพูด

– บอกว่าคนเวียดนามก็คล้ายๆกับคนจีน – คนเวียดนามชาตินิยมมากๆ เค้าโกรธแน่ๆ

– อย่าไปดูถูกเขา คนเวียดนามช่างจดจำ และคิดแก้แค้น

– หากบอลไทยชนะเวียดนาม ไม่ควรออกจากบ้านไปเจอคนเวียดนาม

– กลับกันหากเวียดนามชนะ เขาอาจบอกเราว่าวันนี้ไทยโชคไม่ค่อยดีนะ เราก็ยอมๆไปถ้าอยู่บ้านเขา

12) การจดทะเบียนบริษัท ต้องตรวจสอบให้ดี เพราะว่าที่เวียดนาม ไม่สามารถจดวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัทครอบจักรวาลแบบไทย คือ หนึ่งบริษัททำกิจการได้อย่างเดียว และบางทีจำกัดพื้นที่ด้วย เช่นทำได้แค่ใน เมืองใดเมืองหนึ่ง

เอกสารสัญญา ต้องทำ 3 ภาษา เวียดนาม ไทย และอังกฤษ และต้องให้สถานทูตรับรองการแปลภาษาด้วย ถึงจะบังคับใช้ได้

เรื่องกฎหมายต้องดูให้ละเอียด อย่าคิดประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้มากเกินไป

คือ เริ่มธุรกิจกับพาร์ทเนอร์ง่าย แต่เลิกยาก

13) เรื่องการค้าขายควรเปิด L/C กับธนาคาร จ่าย at sight (เมื่อเห็นของ) หรือไม่ก็ทำ TT (โอนเงิน) at sight

ก็เป็นข้อมูลสรุปโดยสังเขป รายละเอียดต้องไปลงสนามจริง ให้เห็นภาพ

โดยต้องขอขอบพระคุณ DITP มา ณ ที่นี้

และสัปดาห์หน้าวันที่ 25 ก.พ. มีงานสัมมนา 3 ภูมิภาค (จีน, อินเดีย, CLMV) ที่เมืองทองธานี เพื่อนๆผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ห้ามหลาด

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลคณะที่จะไปดูงาน CLMV กันด้วย หรือใครอยากได้ Slide นำเสนอ แอดไลน์ @zupports เดี๋ยวส่งข้อมูลให้นะครับ

http://bit.ly/35Rh2ql

💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ กดติดตาม

ติดดาว ⭐ “นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า”

⚓บริการเช็คราคาขนส่งระหว่างประเทศ ช่วยลดต้นทุน และปรึกษานำเข้าส่งออก

https://zupports.co

👫 ร่วมกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้าส่งออก

https://m.facebook.com/groups/845457579217628/?ref=pages_profile_groups_tab

 

 

ข่าวสารอื่นๆ