ทุกวันนี้เราเห็นบริษัทจีน ขึ้นมาโลดแล่นในเวทีระดับโลก อย่างมากมาย ที่ได้ยินชื่อบ่อยๆ ก็ Alibaba, Tencent, Baidu, Huawei, Xiaomi, Oppo, ฯลฯ
โดยข้อมูลเมื่อปีล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว มีบริษัทที่เปิดใหม่ในจีนถึง “วันละ” 20,000 บริษัท!
เทียบกับไทยมีบริษัทเปิดใหม่ “เดือนละ” หลัก 5,000-6,000 บริษัท คือ เทียบแค่จำนวนบริษัทเปิดใหม่ก็ต่างกันเป็นเป็นร้อยเท่าแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ จีนมีวิธีในการปั้นบริษัท/สตาร์ทอัพ ขึ้นมามากมายเช่นนี้ได้อย่างไร?
นำเข้าส่งออกสุดขอบฟ้า จึงขอนำเคล็ดลับที่ทำให้จีน พัฒนาขึ้นมาจากประเทศแห่งของก็อปปี้ มาเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเล่าสู่กันฟัง
เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เราไปติดตามกันเลย
1) ระบบนิเวศน์ เอื้ออำนวย
ด้วยขนาดของประเทศที่ใหญ่มาก และนโยบายรัฐ ที่มุ่งพัฒนาประเทศ ทั้งตามแผนการ Made in China 2025 ไปจนถึงการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก ในปี ค.ศ. 2050 ที่พรรคคอมมิวนิสต์ จะครบอายุ 100 ปี
ตั้งแต่ ค.ศ. 2015 จีนมีการจัดสรรทรัพยากร เพื่อพัฒนาคนและผู้ประกอบการ ไล่ตั้งแต่ การจัดตั้งวิทยาลัยต้นแบบที่สอนด้านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ กว่า 200 แห่ง มีการสอนกว่า 2,800 หลักสูตร และนักศึกษากว่า 630,000 คน
ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ปี 2017 จำนวนนักศึกษาที่จบใหม่ ที่จัดตั้งธุรกิจของตัวเองใน 6 เดือน มีถึง 3% โดยตัวเลขเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เทียบกับปี 2011
ตัวเลขผลสำรวจปี 2018 ระบุว่า 90% ของนักศึกษาที่จบใหม่ อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
ด้านจำนวน Incubator หรือ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ ในปี 2015 ก็มีมากกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ
จีนยังตั้ง กองทุน China New Era Technology หรือประมาณว่ากองทุนสตาร์ทอัพแห่งชาติ ที่มีเงินลงทุนสูงถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ เกือบๆ ห้าแสนล้านบาท (งบกระทรวงศึกษาฯ ของไทย ได้เกือบๆ 4 แสนล้านบาท)
นักศึกษาฝั่ง STEM (Science, Technology, Engineering, Math) ของจีนเอง ก็ตัวเลขเยอะสุดๆ ประมาณ 4.7 ล้านคน เทียบสหรัฐฯ ที่ เกือบๆ 6 แสนคน
คือมีทั้ง Input จำนวนนักศึกษา ที่พร้อมจะเป็นผู้ประกอบการ และการสนับสนุนจากภาครัฐ
2) การแข่งขันที่รุนแรงในประเทศ
ถึงแม้จะบอกว่าประเทศจีนกว้างใหญ่มาก มีตลาดขนาดใหญ่ ประชากรเป็น 4 เท่าของสหรัฐฯ
แต่ก็อย่าลืมว่าผู้ประกอบการของจีนเองก็มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านเช่นกัน
หากคิดภาพไม่ออกให้นึกถึงเวลาดูหนังจีน คือการสอบจอหงวน หรือหากใกล้ๆ ตัวหน่อยก็การแข่งขันประกวดพวกรายการร้องเพลงหรือ AF
การแข่งขัน ก็เหมือนเป็นการ คัดบริษัทที่สุดนอดจริงๆ จากบริษัททั้งประเทศ ตัวอย่างเช่นยุค ที่พวกเว็บไซต์ Group buy หรือเว็บดีล (รวมกันซื้อถูกกว่า) กำลังเป็นที่นิยม หากเป็นในไทยตอนนั้นก็มีหลักสิบบริษัท (ที่ดังๆ ก็พวก Ensogo แต่ก็มาเร็วไปเร็ว) แต่ในจีนนั้นมีการแข่งกันเป็น “พัน” บริษัท
ผู้ที่อยู่รอด จนชื่อเสียงโด่งดัง ก็คือ คนที่ชนะจากการแข่งขันในประเทศมาแล้ว หากเราต้องแข่งด้วย ก็ อารมณ์ไปแข่งกับนักกีฬาโอลิมปิคจีนแดง
(ถ้าแข่งนอกประเทศก็คงพอไหว ถ้าเราเจ๋งจริงและเล่นในกีฬาที่จีนไม่ถนัด แต่หากแข่งในประเทศจีน กรรมการเค้าเข้าข้างด้วย ก็คงจบเกมส์)
3) การยอมรับในระบบ Big Brother
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนพัฒนา AI ให้ใช้งานได้รวดเร็วแซงหน้าหลายๆประเทศ ก็คือ การมีข้อมูล Big Data เอาไว้ใช้งาน ตัวอย่างเช่น การใช้ข้อมูลกล้องวงจรปิดในที่สาธารณะ วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เช่น การเคลื่อนที่ของรถ และคนในเมือง เพื่อจัดการจราจร หรือ การใช้ Social Credit ควบคุมความประพฤติของคน
มีบทวิเคราะห์หลายๆ สำนักระบุว่า การที่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแบบเข้มงวดสุดๆ ของยุโรป (GDPR) อาจทำให้ยุโรป เพลี่ยงพล้ำ ในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
(แต่ตรงจุดนี้หลายๆ ประเทศไม่น่าจะชอบแน่ๆ ที่มีพี่ใหญ่มาควบคุมความประพฤติ)
4) การมีไอดอล ผู้ประกอบการจีน เป็นแรงบันดาลใจ
ยุคแรกๆ ที่จีนยังเป็นนักก็อปปี้ตัวยง ก็มีผู้ประกอบการรุ่นบุกเบิก ที่สามารถนำเทคโนโลยีของโลกตะวันตกมาประยุกต์ใช้ในแบบจีนๆ จนสำเร็จ นั่นก็คือผู้นำ 3 บริษัทใหญ่ อย่าง Robin Li, Jack Ma, และ Tony Ma แห่ง Baidu, Alibaba, และ Tencent ตามลำดับ
คนจีนรุ่นต่อมา ก็มีผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นไอดอล และทางบริษัทใหญ่ๆ เองก็สนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่นบริษัท Tencent ของ Pony Ma ก็ใช้กลยุทธ์ลงเงินไปทั่ว สนับสนุนบริษัทใหม่ๆ (คือไม่ต้องสร้างเอง ซื้อเอาง่ายกว่า)
5) คนจีน ขยัน อย่างที่สุด
ถึงแม้จะเป็นประเด็นสุดท้าย แต่ต้องบอกว่าเคล็ดลับความสำเร็จจริงๆ ก็น่าจะเป็นข้อนี้นั่นแหล่ะ
สำหรับบริษัทเทคโนโลยีสตาร์ทอัพในจีนนั้นจะทำงานแบบ “996” นั่นก็คือ เริ่มงาน 9 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม คือวันละ 12 ชั่วโมง และทำแบบนี้ 6 วันต่อสัปดาห์
โดยเฉลี่ยคนจีนทำงานกันสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมง เทียบกับคนไทยเราก็น่าจะประมาณ 40 ชั่วโมง (อันนี้ยังไม่หักเวลาทานข้าวเที่ยง และต่อคิวซื้อกาแฟยามบ่าย)
โดยนักลงทุนชาวอเมริกันหลายรายถึงกับบอกว่ามาดูสตาร์ทอัพจีนทำงานแล้ว รู้สึกว่า สตาร์ทอัพสหรัฐฯ กลายเป็นคนขี้เกียจไปเลย
อีกจุดหนึ่งคือ คนจีน ที่เราพบเจอในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ พูดภาษาอังกฤษกันคล่อง แต่กลับกันคือ มีคนต่างชาติสักกี่คน ที่พูดจีนได้
ก็เป็น 5 ประเด็นหลักๆ ที่แอดมินสรุปประเด็นมาให้ดูกัน
วันพรุ่งนี้ เราจะไปลองไปดูกรณีศึกษา ของบริษัทจีนที่น่าจะโด่งดังที่สุดในช่วงนี้
ที่มีคำกล่าวว่า…
พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก…
แต่ “บริษัทนี้” สร้างสิ่งที่เหลือทั้งหมด!
เราจะไปพบกับ “Xiaomi” บริษัทจีนหัวใจ Apple กันนั่นเอง…
🚦อย่าลืมกดติดตาม / ติดดาว กันนะ จะได้ไม่พลาด เรื่องราวดีๆ 😀
ที่มา
Tech Titans of China
https://www.businessinsider.com/china-social-credit-system-punishments-and-rewards-explained-2018-4
https://foreignpolicy.com/2020/01/14/china-is-winning-the-race-for-young-entrepreneurs/
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กดติดตาม “นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า”
และหากต้องการปรึกษาเรื่องนำเข้าส่งออก แอดไลน์ @zupports ได้เลย