[Freight Weekly Update] รายงานสถานการณ์นำเข้า- ส่งออก ภาคการขนส่งทางเรือ ประจำวันที่ 25 -29 เมษายน 2565 กับ ZUPPORTS
เมื่อระบบวงจรและห่วงโซ่ในการขนส่งของโลก ถูกแช่แข็งจากวิกฤติไวรัส
เหมือนเช่นเคยในทุกสัปดาห์ กับการเสิร์ฟข่าว รายงานทุกสถานการณ์ความเคลื่อนไหวการนำเข้า-ส่งออก ในภาคการขนส่งสินค้าทางเรือ ประจำสัปดาห์ที่ 18 ของปี 2022 ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน เดือนที่ถือว่าร้อนที่สุดของปีก็ว่าได้ และยิ่งรู้สึกร้อนเพิ่มขึ้นไปอีกสำหรับในแวดวงนำเข้า-ส่งออก เนื่องจากรอบตัวแวดล้อมไปด้วยประเด็นสถานการณ์ร้อนๆที่มีผลต่อการงานของพวกเราทั้งสิ้น
.
ที่ไม่พูดถึงคงจะไม่ได้ กับมาตรการล็อคดาวน์ที่ประเทศจีน โดยบังคับใช้กับเมืองท่าหลักอย่างเซี่ยงไฮ้ ภายใต้นโยบาย Zero Covid 19 ของรัฐบาลปักกิ่งที่มีความเข้มงวดอย่างมาก จนเป็นผลให้ระบบวงจรการขนส่งและการกระจายสินค้าถูกแช่แข็งแทบจะในทุกรูปแบบของการขนส่ง และไม่ได้มีผลกระทบแค่เพียงภายในประเทศจีนหรือภายในภูมิภาคเอเชียเองเท่านั้น หากแต่ส่งผลลามไปยังภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก และกำลังเริ่มส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจ อุตสาหกรรม รวมถึงบริการต่างๆในชีวิตประจำวันของเรา ที่เริ่มขาดการป้อนสินค้าเข้ามาเติมในระบบ เนื่องจากโรงงานในประเทศจีนไม่สามารถทำการผลิตหรือไม่สามารถขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้าได้นั่นเอง
.
เรียกได้ว่า การล็อคดาวน์เมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้เพียงเมืองเดียวนั้น ไม่ต่างกับการที่หัวใจหยุดเต้น และไม่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ทุกภาคส่วนอื่นเริ่มไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือขยับได้ นั่นยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นมหาอำนาจทางการค้าของประเทศจีน ที่คงความเป็นเจ้าแห่งศูนย์กลางของโลกอุตสาหกรรมการผลิตและการกระจายสินค้าได้อย่างชัดเจน
.
หากพร้อมกันแล้ว ตามเรามาดูทิศทางของการขนส่งสินค้าทางเรือประจำสัปดาห์กันเลย
=========================
ZUPPORTS ควบคุมต้นทุนขนส่งผ่านระบบเปรียบเทียบราคาเฟรทออนไลน์
สนใจลงทะเบียนทดลองใช้งานฟรี ที่ www.ZUPPORTS.co/register
=========================
1) ในส่วนของภาพรวมและสถานการณ์ในการจองพื้นที่ระวางเรือ ดูเหมือนจะถูกบีบตัวเลือกเส้นทางการขนส่งเหลือน้อยลง หลายเส้นทางในบางภูมิภาคไม่มีให้บริการหรือหยุดรับการจอง โดยเฉพาะเส้นทางไปยังประเทศจีน ที่หลายสายการเดินเรือหยุดรับงานที่จะไปท่าเรือตอนกลางอย่าง CNSHA/ CNNGB / CNXMN บางสายเรือเริ่มไม่รับงานที่ไปท่าเรือตอนบนอย่าง CNTXG/ CNTAO
.
ซึ่งส่วนมากหลายสายการเดินเรือเปิดรับการจองเรือหรืองานที่ไปในส่วนของจีนตอนล่างอย่างท่าเรือใน 9 เมืองตอนล่างในแทบ PRD Zone หรือบรรดาพวกท่าเรือล่องแม่น้ำที่ต้องทำการถ่ายลำที่ Hong Kong หากแต่พื้นที่หรือสเปชถือว่าแน่น และเต็มไปจนถึง Week 20 -21 ใครที่ไม่ได้ทำการจองล่วงหน้า คงต้องรอตัดเรือแบบลำต่อลำ
.
ในขณะที่เส้นทางขนส่งไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ และยุโรป ค่อนข้างมีหวังในการจองเรือมากกว่า เนื่องจากสินค้าจากจีนยังไม่สามารถขนส่งออกมาได้คล่องตัว จึงยังคงมีอนิสงค์เป็นผลบวกกับบ้านเรา หากแต่ หลายสายการเดินเรือ มีการปล่อยตารางเรือว่าง หรือ Blank Sailing เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพกลไกตลาดเรือ
.
โดยตั้งแต่ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เส้นทางข้ามแปซิฟิค หรือ Trans Pacific Eastbound มีการปล่อยตารางเรือว่างไปแล้ว 25 -30 รอบเรือ ในขณะที่เส้นทาง Asia-Europe Westbound มีการปล่อยตารางเรือว่างไปแล้ว 20- 25 รอบเรือ และมีแนวโน้มว่าจะยังคงได้เห็นการจัดการตารางเรือลักาณะนี้อีกในเดือนพฤษภาคม
.
ในส่วนของเส้นทางไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ หรือ Indian Subcont ก็หนักหน่วงไม่แพ้กัน INMAA , INNSA INPAV ,INMUN , PKKHI, BDCGP, หลายสายการเดินเรือหยุดรับการจองบุ๊คกิ้งเนื่องจากพื้นที่เต็มไปจนถึงกลางเดือนหน้า บางสายการเดินเรือแทบไม่สามารถรับงานที่เป็นขาออกแบบ Freehand จากเมืองไทยได้เลย เนื่องจากได้พื้นที่หรือ Allocation Space น้อยมาก แค่รับงาน Nominate Lead จากตัวแทนหรือเอเยนต์ที่ปลายทาง ก็ปิดเรือได้ทันที
ยิ่งท่าเรือ LKCMB ไม่ต้องพูดถึง เรียกว่าไม่มีใครรับได้เลยตอนนี้ เนื่องจากปัญหาภายในประเทศอยู่ในขั้นรุนแรง
.
ดังนั้นผู้นำเข้า-ส่งออก ที่มีสินค้าแบบพิเศษอย่างประเภท DG Cargoes / OOG Cargoes อาจต้องวางแผนการขนส่งเป็นพิเศษ เนื่องจากหลายสายการเดินเรือเริ่มประกาศงดรับสินค้าประเภทที่ว่าบ้างแล้วในบางเส้นทาง
2) ในส่วนสถานการณ์และภาพรวมของตู้สินค้า สภาวะการขาดแคลนจะยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทุกภูมิภาคทั่วโลก จากเดิมที่ว่าหนักแล้วกับภาวะตู้สินค้าไปค้างตามท่าเรือต่างๆในภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป ยิ่งมาเจอสถานการณ์ การล็อคดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ นี่อาจเป็นวิกฤติใหม่ที่ซ้ำเติมทุกสิ่งยิ่งกลับเลวร้ายลงไปกว่าเดิมในวงการขนส่งทางเรือ
รวมถึงอาจเป็นตัวแปรตัวหนึ่งที่ดึงตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจของโลก
.
ใครจะคาดคิดว่า มีตู้สินค้าจำนวนกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนตู้สินค้าที่หมุนเวียนให้เราใช้ขนส่งกันทั้งโลก ไปติดค้างอยู่ในประเทศจีน ซึ่งตามวงรอบปกติของการหมุนเวียนตู้สินค้าแต่ล่ะใบในแต่ล่ะการขนส่งหรือ 1 Shipment ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 60 -75 วันสำหรับเส้นทางสายนอกหรือ Long-Haul และ 30 -45 วันสำหรับเส้นทางสายในหรือShort- Haul
.
หากแต่โลกได้รู้จักกับคำว่า โควิด 19 ระยะเวลาการหมุนเวียน หรือ Turnover ของตู้สินค้ามีการบิดเบี้ยวและยาวนานขึ้นจากเดิมอย่างมาก ซึ่งทางสายการเดินเรือหรือตัวแทนผู้รับขนส่งต่างก็พยายามแก้เกมส์ โดยการลดจำนวนวัน Free Time ลง
.
ในขณะที่บ้านเรา หลายสายการเดินเรือน่าจะได้รับผลกระทบกันมากขึ้น โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าที่จะเริ่มเห็นความหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น (ในบางสายการเดินเรือหนักมาตลอดทั้งปี ) เนื่องจากการตกค้างของตู้สินค้าตามท่าเรือต่างๆยังไม่สามารถแก้ไขได้
.
รวมไปถึงปริมาณสินค้าหรืองานขาเข้ามาบ้านเราหดลงไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะงานที่นำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งหลายคนกำลังประสบปัญหาหนักมาก และไม่มีใครรู้ได้ว่าสถานะต้นทางเป็นอย่างไร สินค้าจะได้ส่งออกมาเมื่อไร
.
ดังนั้น การไปคาดหวังในการรอเกี่ยวตู้สินค้าขาเข้าที่นำมาคืนนั้น จึงเป็นไปได้ยากมากในตอนนี้
3) ในขณะที่ภาพรวมของตารางเดินเรือไม่ต้องพูดถึง เละหนัก หลายสายการเดินเรือมีการปรับเส้นทางการขนส่งหรือ Re-Routing มีทั้งที่ปรับเปลี่ยนเพื่อเหมาะสมตามแผนหรือ ปรับเปลี่ยนแบบกะทันหัน
.
ในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะเส้นทางขนส่งท่าเรือประเทศจีน มีการปรับเส้นทางเปลี่ยนท่าเรือเข้าเทียบ เพื่อหลีกหนีความหนาแน่นของท่าเรืออย่าง CNSHA/ CNNGB/ CNYTN รวมถึงปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อไปเก็บตู้สินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิหรือ Reefer ออกมาจากบางท่าเรือเพื่อไปย้ายไปท่าเรือใกล้เคียงอื่น เนื่องจากปัญหารางปลั๊กปั่นไฟในท่าไม่เพียงพออย่างหนัก
.
ซึ่งหลายสายการเดินเรือเริ่มมีการแจ้งประกาศ ละเว้นเรียกเก็บค่าธรรมเนียมกรณีเปลี่ยนท่าเรือปลายทางหรือ Port of Destination COD ในกรณีที่ลูกค้าต้องการเปลี่ยนท่าเรือปลายทางจาก CNSHA/ CNNGB ไปท่าใกล้เคียงอื่น หรือละเว้นค่าปรับในกรณีลูกค้าที่ต้องการยกเลิกการจอง หรือ Cancel Shipment ไปยังสองท่าเรือที่ว่า สำหรับสินค้าบางประเภท
.
ทางด้านเส้นทางการขนส่งไปยังภูมิภาค อเมริกาเหนือ ,ยุโรป และเอเชียใต้ ก็ยังประสบกับความไม่นิ่งของตารางเรือเช่นกัน เนื่องจากหลายสายการเดินเรือ มีการปล่อยตารางเรือว่างหรือ Blank Sailing ในบางเส้นทาง รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง หรือเปลี่ยนแปลงลำดับของท่าเรือ ที่จะเข้าเทียบก่อนหลังในรอบเรือนั้นๆ เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงความหนาแน่นของบางท่าเรือ
ดังนั้น ระยะเวลาในการขนส่งหรือ Transit Time ในบางท่าเรือจะมีการเปลี่ยนแปลง ยาวนานขึ้นและรวนหนักขึ้น
4) ทางด้านค่าระวางขนส่งหรือค่าเฟรท ที่ดูเหมือนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนเริ่มคาดเดาชะตากรรมได้ไม่ยากนัก ว่าจะไปในทิศทางใดในท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้
.
ภาพรวมค่าระวางโลก การปรับเพดานลงเริ่มชะลอตัวและมีการตรึงแนวคงที่ ไม่ไหลลงต่อเนื่อง อย่างที่หลายคนคาดหวัง
.
เนื่องจากสถานการณ์โลกช่วงนี้ไม่มีความแน่นอน หลายคนมองข้ามไปถึงปริมาณสินค้าจำนวนมหาศาลที่กำลังจะบ่าออกมา ในช่วงเวลาที่ประเทศจีนคลายล็อคดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ นั่นหมายถึงอุปสงค์ในภาคการขนส่งจะตีกลับขึ้นมาอีกครั้งเมื่อประเทศจีนฟื้น
.
ประกอบกับอยู่ในช่วงใบไม้ผลิของฝั่งยุโรป และซีกโลกตะวันตกซึ่งเป็นช่วงของการทำตลาดและเป็นฤดูแห่งการผลิต แถมซ้ำเติมด้วยภาวะตู้สินค้าเริ่มกลับมาอยู่ในจุดวิกฤติขาดแคลนหนัก ดังนั้นทางสายการเดินเรือไม่น่าจะมีความจำเป็นที่ต้องลดเพดานค่าระวางขนส่งลงไปจากนี้…
.
แถมต้องจับตาดูว่าจะมีค่าใช้จ่ายประเภท Surcharge ตัวใดออกมาเพิ่ม!!
.
ในขณะที่บ้านเราเองหลายคนกำลังคาดหวังจะได้เห็นราคาค่าระวางที่ลดต่ำลง แต่ดูเหมือนจะเป็นไปค่อนข้างยาก ด้วยหลายเหตุปัจจัยที่เรากำลังประสบและดูไม่เห็นแนวโน้มของวิกฤติจะไปในทางที่ดีขึ้น จึงไม่มีเหตุปัจจัยในการเอื้อหรือฉุดให้ราคาค่าระวางต่ำลง แถมพื้นที่ระวาง หรือ Space ก็เต็มแทบจะทุกเส้นทางขนส่ง
.
เรียกได้ว่า ภาวนาให้คงที่หรือ Maintain ให้ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ อาจยังพอลุ้น หากแต่สิ่งที่น่ากลัวคือ ภาวะความหนาแน่นในปัจจุบันของทุกท่าเรือในประเทศจีนอาจจะเป็นตัวแปรที่สายการเดินเรือมีการปรับเพิ่มในส่วนค่าใช้จ่ายอื่น เช่น Port Congestion Surcharge หรือค่าบริหารจัดการความหนาแน่นในเขตท่าเรือ นั่นเอง
.
รวมไปถึงภูมิภาค อเมริกาเหนือ ที่กำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลน ภาคแรงงาน/ ภาคขนส่ง ทั้ง หางเทรลเลอร์หรือ Chassis/ แคร่รถไฟรวมไปถึงคนขับรถ ดังนั้นเราจะยังคงได้เห็นค่าระวางขนส่งในเส้นทางขนส่งไปยังภูมิภาคนี้แตะในระดับที่ซื้อรถได้หนึ่งคันแบบนี้ต่อไป
5) สุดท้ายในภาพรวมความหนาแน่นของท่าเรือสินค้าทั่วโลก หลายคนเพ่งไปที่ประเทศจีนก่อน ตามที่เราทราบกันดีถึงสถานการณ์ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ กับการเข้าสู่สัปดาห์ที่สี่ภายใต้คำสั่งล็อคดาวน์ และเนื่องมาจากการแช่แข็งดังกล่าว
.
จึงไม่แปลกที่มีเรือสินค้าจำนวนมากไปแออัดอยู่ตามท่าเรือและนอกชายฝั่งของประเทศกว่าพันลำ โดยครึ่งหนึ่งในจำนวนเรือที่รอนั้น เป็นประเภทเรือตู้สินค้าเสียด้วย ซึ่งนั่นมันคือฝันร้ายของคนในแวดวงนำเข้า-ส่งออก
.
สิ่งที่น่าตกใจคือ ในช่วงเวลาหนึ่งเดือนของการล็อคดาวน์ มีเรือตู้สินค้าที่รอเข้าเทียบเท่าเรือของประเทศจีน จำนวนคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของจำนวนเรือตู้สินค้าของทั้งโลก ดังนั้นคงไม่ต้องอธิบายเยอะว่า ความหนาแน่นจะสาหัสกันขนาดไหน และที่ที่น่าวิตกคือ ต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะทำการระบายจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ!!
.
ดังนั้นหลายคนรวมถึงชาวโลก จะยังคงประสบกับภาวะนี้สำหรับประเทศจีน จนกว่าจะเริ่มมีข่าวดีในการผ่อนปรนมาตรการ จากรัฐบาลปักกิ่ง
.
ทางด้านของภูมิภาคอเมริกาเหนือที่อาจจะยังพอได้หายใจอยู่บ้าง เนื่องจากสินค้าจากประเทศจีนยังหดตัว จึงยังไม่มีเรือสินค้าจากจีนไปซ้ำเติมมากนัก
.
หากแต่สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา ดูเหมือนยังคงประสบกับปัญหาความหนาแน่นของท่าเรือในฝั่งตะวันตกกันทั้งคู่ ทั้ง USLAX/ USLGB/ USOAK/ CAVAN ต่างมีเรือสินค้ารอเทียบท่าสะสมกันมากกว่า 20 -30 ลำขึ้นไป และเรือแต่ล่ะลำใช้เวลารอเทียบอยู่ที่ 20 -28 วันทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาการคลาดแคลนหลายปัจจัยอย่างที่กล่าวข้างต้น การไหลตู้สินค้าจึงทำได้ช้ามาก
.
จะมีดูดีก็ด้านฝั่งตะวันออก อย่าง USNYC/ NYORF/ USSAV ที่พอจะระบายได้ดีมากกว่า และสามารถปฏิบัติงานได้เต็มสูบศักยภาพของท่าเรือ จึงทำให้มีเรือรอเทียบสะสมค่อนข้างบางตา มากกว่าฝั่งตะวันตก
.
ในขณะที่ท่าเรือในภูมิภาคเอเชียใต้หรือ Indian Subcont ที่ยังคงประสบกับปัญหาความหนาแน่นมาตั้งแต่ช่วงการระบาดของไวรัส Covid-19 และกู่ไม่กลับจนถึงขณะนี้ ทุกท่าเรือหลักอย่าง INMAA/ INNSA/ PKKHI/ BDCGP/ LKCMB ยังไม่สามารถที่จะทำการระบายและไหลสินค้าได้ตามศักยภาพของท่า
.
เรือสินค้ารอเทียบท่าสะสมจำนวนมากจนไม่สามารถกลับเข้ารอบเรือของตนได้ทัน ส่งผลต่อการให้บริการที่หลายสายการเดินเรือต้องหยุดรับชั่วคราวเนื่องจากใช้เรือวนเส้นทางสั้นๆ แบบ Short-Haul
*******
6) โดยในสัปดาห์นี้ ซึ่งเรายังคงต้องจับตาไปที่ประเทศจีน ถึงความคืบหน้าในการผ่อนปรน มาตรการล็อคดาวน์ รวมไปถึงมาตรการในการหมุนวงจรการขนส่งและการกระจายสินค้าอีกครั้ง
.
ซึ่งล่าสุดทางการจีนมีการจัดทำบัญชีสีขาว หรือ Company White List โดยรวบรวม 666 บริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมพลังงาน และ อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ล็อคดาวน์ ให้กลับมาเดินหน้าการผลิตได้ใหม่ภายใต้เงื่อนไข และข้อบังคับท้องถิ่น ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส
.
รวมไปถึงมาตรการผ่อนปรนในภาคขนส่งระหว่างเมือง เพื่อให้เฟืองของวงจรห่วงโซ่การกระจายสินค้ากลับมาหมุนเอีกครั้ง ว่าจะออกมาในรูปแบบทิศทางใด
.
ทั้งหมดที่เล่ามา คือภาพรวมของสถานการณ์ รวมถึงทิศทางแง่มุมต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางเรือในรอบสัปดาห์ ซึ่งดูเหมือนหลายปัจจัยจะไม่เอื้อในการทำงานของเรานัก และอยู่นอกเหนือการควบคุมของเราทั้งสิ้น รอบตัวเราจึงมีทั้งโอกาสและวิกฤติไปพร้อมๆกัน
.
และไม่ว่าจะอยู่ในภาวะสถานการณ์ใดก็ตาม พวกเราชาว ZUPPORTS จะยังคงอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการทุกท่านในแวดวงการนำเข้า-ส่งออก เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือในทุกธุรกิจของทุกคนเสมอ
กลับมาพบกับพวกเราเหมือนเคยได้ใหม่ในสัปดาห์หน้า ขอลาไปก่อน สวัสดี
=============================
ไม่พลาดทุกข่าวสาร วงการขนส่งระหว่างประเทศ
นำเข้า ส่งออก เข้าร่วมกลุ่มที่ https://bit.ly/3seJRLk
=========================
สำหรับช่วงนี้ ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ที่ประสบปัญหาจองเรือไม่ได้ ราคาเฟรทแพง แอดมิน ขอแนะนำ ZUPPORTS แพลตฟอร์มดิจิตอล ที่ได้รวบรวมเฟรทฟอร์เวิร์ดเดอร์หรือผู้ให้บริการขนส่ง ในระบบมากกว่า 100 ราย
.
ช่วยผู้นำเข้าส่งออก สามารถ Bid และเปรียบเทียบ ราคาขนส่งทางทะเล ทางอากาศ ทางบก ได้ง่ายๆ ผ่านช่องทางออนไลน์
.
นอกจากนี้เรายังช่วย เชื่อมโยงข้อมูล ทั้งระบบติดตามเอกสารขนส่ง, งานศุลกากร, ประกันภัย, บริการทางการเงิน ทำให้บริษัท บริหารงานนำเข้าส่งออก ได้ครบ จบในที่เดียว
.
เพื่อนๆที่สนใจ ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ ทดลองใช้ระบบฟรี ได้ที่ www.ZUPPORTS.co/register