เงิน (Money) ถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า โดยมาทดแทนการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยตรง (Barter) ที่ขาดประสิทธิภาพ
สกุลเงินถูกใช้เป็นหน่วยทางบัญชี ช่วยคำนวณราคาและประเมินมูลค่าสินค้า และยังช่วยเก็บรักษามูลค่าอีกด้วย
โดยเงิน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ในช่วงเวลาที่ต่างกัน และทำให้สามารถซื้อขาย ไปในพื้นที่ห่างไกลได้
คุณสมบัติของเงิน ที่ต้องมี ได้แก่ Available (หาได้), Affordable (สามารถซื้อหา/ผลิตได้), Durable (ทนทาน), Fungible (ทดแทนสิ่งของได้), Portable (พกพาสะดวก), และที่สำคัญที่สุดคือ Reliable (น่าเชื่อถือ)
ซึ่งหลายพันปีมาแล้ว ที่มนุษย์ เลือกใช้ โลหะไม่ว่าจะเป็น ทองคำ (Gold), เงิน (Silver), และทองสัมฤทธิ์ (Bronze) เอามาทำเป็นเงิน (Money) เนื่องจากมีคุณสมบัติครบถ้วน เหมาะกับการเป็นเงิน อย่างยิ่ง
ในบทความตอนแรก เราได้เห็นโฉมหน้าของ สกุลเงิน Aureus เหรียญทองคำแท้ๆ 24 กะรัต แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งถือเป็นสกุลเงินที่นานาชาติยอมรับลำดับแรกๆ ด้วยความยิ่งใหญ่ของโรมันเอง และการค้าขายกับชนเผ่าต่างๆ รอบอาณาจักร
แต่ด้วยความเสื่อมโทรมของจักรวรรดิโรมัน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 และอัตราเงินเฟ้อมหาศาล ทำให้สกุลเงิน Aureus สูญเสียสมบัติอย่างหนึ่งที่สำคัญไปก็คือ “ความน่าเชื่อถือ”
สกุลเงินใหม่ คือ “Solidus” จึงถือกำเนิดขึ้น ในช่วง ค.ศ. 301 โดยจักรพรรดิไดโอคลีเชียน (Dioclotian) แต่การใช้เหรียญทองใหม่นี้ ยังใช้ในวงจำกัด และเป็นทางจักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine) ที่ตัดสินใจใช้ “Solidus” ทดแทน “Aureus” ใน ค.ศ. 312
Solidus เป็น เหรียญทองคำ หนัก 4.5 กรัม ทำจากทองคำบริสุทธิ์ 24 กะรัต โดย Solidus มีรากศัพท์ มาจาก “Solid” โดยยึดแนวคิดหลักก็คือ เหรียญ Solidus จะต้องมี ความบริสุทธิ์ของทองคำ และน้ำหนักที่ “คงที่”
Cr. Wiki
ซึ่ง Solidus ก็ “แข็ง” สมชื่อ คือ เป็นสกุลเงินที่ใช้เปรียบเทียบมูลค่าสิ่งของ ตลอดช่วงปี ค.ศ.300-1000 หรือ อยู่ยาว เจ็ดร้อยปี เลยทีเดียว โดยไม่ได้มีการปรับลดน้ำหนักทอง (ไม่เหมือนเหรียญเงิน Denarius ที่ลดปริมาณเงินลงเรื่อยๆ จนแทบจะไม่มีเงินผสม)
ทีแรก แอดมินตั้งใจจะพาไปทัวร์ยุโรป ดูเรื่องราวของเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) และสกุลเงิน Fiorino กันเลย
แต่คิดๆ ดูแล้ว ดูเป็นการไม่ให้เกียรติ จักรพรรดิคอนสแตนติน และจักรวรรดิไบแซนไทน์ ซักเท่าไหร่…คือ เล่าน้อยไปหน่อย ประมาณ 3 ประโยค >.<
และนอกจากนี้เราจะข้ามเรื่องราวการค้าบนเส้นทางสายไหม (Silk Road) อันรุ่งโรจน์ในช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 6 ไปไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
ดังนั้น ในบทความตอนนี้ เรากลับไปที่ “Solidus” สกุลเงินที่สามารถคงอำนาจ ได้มากกว่า เจ็ดร้อยปี มันเป็นไปได้อย่างไร? (เทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ แล้วเพิ่งกลายเป็นเงินสำรองของโลก ไม่ถึงร้อยปีเอง)
หากพร้อมแล้ว เราไปติดตามกันเลย
════════════════
ผู้นำเข้า ส่งออก หาขนส่งมืออาชีพ
นึกถึง ZUPPORTS
════════════════
ฮาเกีย โซเฟีย (Hagia Sophia) โบสถ์ทรงโดมที่ใหญ่ที่สุดในโลก บนดินแดนที่โลกตะวันออกบรรจบกับโลกตะวันตก
Cr. Viator
วิหารโซเฟีย ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 532 ในสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียน โดยมีค่าก่อสร้างประมาณ ทองคำหนัก 2 หมื่นปอนด์โรมัน หรือหากเทียบเป็น Solidus ก็ประมาณ 2 ล้าน Solidi (พหูพจน์ของ Solidus)
ในยุคนั้น เหรียญทอง Solidus 1 เหรียญ ซื้อขนมปัง ปริมาณ 1 คนอิ่มได้ถึง 1 ปี (คนสมัยนั้นกินขนมปังวันละ 1-1.3 กิโลกรัม)
ทำให้วิหารโซเฟีย ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่แพงมากๆ แต่ก็สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคริสต์ศาสนิกชน โดยจักรพรรดิในยุคไบแซนไทน์ เรียนรู้ที่จะใช้ศาสนาในการปกครองประชาชน และใช้ในการปลุกระดมบ่อยครั้ง
จักรพรรดิจัสติเนียน (Justinian I) ครองราชย์ในช่วง ปี ค.ศ.527-565 โดยยุคดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็น “ยุคทอง” หรือ “Golden Age” ของจักรวรรดิไบแซนไทน์
Cr. Britanica
จัสติเนียน ไม่ได้มีเชื้อสายกษัตริย์ หรือขุนนางใดๆ มิหนำซ้ำยังเป็นลูกชาวนาจากเมืองมาซิโดเนีย แต่ก็โชคดีที่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากคุณลุงของเขาที่มีชื่อว่า “จัสติน” (Justin)
ซึ่งจัสตินเอง ก็เริ่มจากการเป็นลูกชาวนา แต่ด้วยความฝันที่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ก็เลยเดินทางเข้ากรุงคอนสแตนติโนเปิล เพื่อสมัครเป็นทหาร
จัสติน ได้ตำแหน่งทหารยามเฝ้าพระราชวัง หลังจากนั้นก็เจริญเติบโตในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว จึงพาครอบครัวเข้าเมือง ซึ่งจัสตินไม่มีลูก ก็เลยพาจัสติเนียน เข้าเมืองหลวง และมารับราชการทหารเช่นกัน
โชคชะตาช่วยสนับสนุน จักรพรรดิไบแซนไทน์เสียชีวิตลงโดยไม่มีรัชทายาท ทำให้จัสตินในขณะนั้นที่เป็นหัวหน้าทหารรักษาพระองค์ เป็นคนเดียวที่คุมทหารในเมืองหลวง ก็เลยมีคนเข้ามาให้สินบน เพื่อขอให้เขาสนับสนุนให้หลานของจักรพรรดิองค์ก่อนขึ้นแทน
จัสติน พอได้ฟังคำแนะนำของจัสติเนียน ก็เลยรับสินบนเอาไว้ แล้วเอาเงินดังกล่าวไปให้สินบนวุฒิสมาชิก (Senate) เพื่อให้สนับสนุนตัวจัสตินเอง ขึ้นเป็นจักรพรรดิ! (มันยึดบัลลังก์กันง่ายๆ แบบนั้น!)
จัสติเนียน ได้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากลุง จากนั้นด้วยความไฟแรง ก็เริ่มปฏิรูปยกใหญ่ ทั้งด้านการปราบคอรัปชั่น การเรียกเก็บภาษีจากคนรวยซึ่งบางทีถึงขั้นจับไปทรมานจนกว่าจะยอมจ่ายภาษี
และที่สำคัญคือการปฏิรูปกฎหมาย ที่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย ให้เป็นหมวดหมู่ จนกลายเป็น “ประชุมกฎหมายจัสติเนียน” (Corpus Juris Civilis) หรือ”ประชุมกฎหมายแพ่ง” ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับที่มีอิทธิพลอยู่เหนือกฎหมายของประเทศต่างๆ ในยุโรประยะหลังๆ เป็นอย่างมาก
ผู้คนขนานนามจัสติเนียน ว่าเป็น “จักรพรรดิที่ไม่รู้จักหลับจักนอน” คือ บ้างานมากๆ
Cr. Lawtoknow
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้จักรวรรดิไบแซนไทน์ ยืนหยัดอยู่ได้นับพันปี นอกจากภูมิประเทศของเมืองหลวงที่เป็นหน้าผาสูงชันติดทะเล ยากแก่การโจมตีแล้ว ก็ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจการค้าขายที่สร้างรายได้สม่ำเสมอให้รัฐ และการมีผู้นำที่มีความสามารถผลัดขึ้นมาปกครอง
(ถึงแม้พรรคพวกของจักรพรรดิอย่างจัสติเนียน ก็หาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองเหมือนกัน แต่โดยรวมแล้วประเทศยังดีขึ้น)
การค้าขายบนเส้นทางสายไหม
หลังจากการล่มสลาย ของจักรวรรดิโรมันตะวันออกใน ค.ศ. 476 ทำให้ จักรวรรดิไบแซนไทน์ กลายเป็นจุดหมายใหม่ของบรรดาพ่อค้าที่เดินทางมาสู่โลกฝั่งตะวันตกผ่านเส้นทางสายไหม
กรุงคอนสแตนติโนเปิลกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและวัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงจีน กับโลกตะวันตก
สินค้านำเข้า ที่ชาวโรมันนิยมนอกจากผ้าไหมแล้ว ก็ยังมีสินค้าหรูอื่นๆ เช่น น้ำหอม, พริกไทย, เครื่องสำอาง ไปจนถึง ผ้าขนสัตว์, เหล็ก, อบเชย, และสมุนไพรรักษาโรค
โดยทางจีน นิยมนำเข้าพวกทอง เครื่องเงิน โลหะและหินมีค่าต่างๆ
การค้าขายกับจีนสามารถทำได้ทั้งทางบกผ่านเปอร์เชีย และทางทะเลอ้อมมหาสมุทรอินเดียไปจีน โดยพ่อค้าเปอร์เซีย คือคนกลางที่สำคัญที่เชื่อมระหว่าง ไบแซนไทน์และจีน
นอกจากนี้ทางตอนเหนือ ได้แก่ พวกรัสเซีย ก็ยังใช่เงิน Solidus ในการค้าขายกับไบแซนไทน์ด้วย ทำให้ สกุลเงิน Solidus กลายเป็นเงินสกุลหลักที่ใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6
การค้าผ้าไหมกับจีน ถือเป็นรายได้หลักเลยทีเดียว ซึ่งช่วยส่งเสริมความฝันของจัสติเนียน ที่จะสร้างกองกำลังที่แข็งแกร่ง เพื่อไปยึดกรุงโรมคืนมา
Cr. Pinterest
แต่แล้วก็เกิด โรคระบาดแห่งจัสติเนียน (Plague of Justinian) ค.ศ.541-542 ซึ่ง คร่าชีวิตชาวเมือง คอนสแตนติโนเปิล ไปหลายแสนคน (ทั้งเมืองมีประชากรหลักล้านคน)
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าโรคระบาดมาจากเสบียงอาหารจากอียิปต์ที่นำหนูและหมัดที่มีเชื้อแบคทีเรียมาด้วย หลังจากแพร่ระบาดในอาณาจักรไบแซนไทน์ ยังแพร่ไปทั่วเมืองริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
นักบุญเซบาสเตียน สวดให้ผู้คนที่ล้มตายจากโรคระบาด
กว่าที่โรคนี้จะหมดสิ้นไปใช้เวลายาวนานมากกว่า 2 ร้อยปี โดยรวมแล้วผู้เสียชีวิตอาจมากถึง 25-50 ล้านคน
จากที่จัสติเนียน กำลังชิงพื้นที่ในอิตาลีหรือโรมันตะวันตกคืนกลับมาได้อยู่แล้ว ก็ต้องกลับมาแก้ไขโรคระบาด และฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน
แต่ด้วยความเฉลียวฉลาดของจัสติเนียน ก็เลยคิดแผนหารายได้เข้ารัฐชดเชยส่วนที่ต้องไปแก้ไขโรคระบาด (ส่วนนี้มาจากบันทึกลับของ Procopius อาลักษณ์ผู้บันทึกประวัติศาสตร์สมัยจัสติเนียน)
อย่างที่เราทราบดีว่า ผ้าไหมถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญ ทางจัสติเนียน ก็เลยสั่งลูกน้องให้ไปกว้านซื้อไหมดิบมาให้หมด แล้วเอาไปกักตุนไว้ รอให้ราคาไหมสูงขึ้น
ผ้าไหมจีน
จากนั้นก็สั่งให้กำหนดราคาขายสูงสุดของผ้าไหม ที่ประมาณ 8 เหรียญทองต่อปอนด์ของผ้าไหม ส่งผลให้ผู้นำเข้ารายอื่นที่ไม่ใช่ภาครัฐ ที่นำเข้าไหมดิบราคาแพง ไม่สามารถขายได้ จนเจ๊งปิดกิจการกันไป
ภาครัฐกลายเป็น Monopoly ผูกขาดธุรกิจผ้าไหม แต่เพียงผู้เดียว เก็บรายได้เข้ารัฐเต็มๆ
ซึ่งอย่างที่บอกว่าเป็นบันทึกลับ อันนี้แอดมินก็ไม่รู้ว่าเรื่องจริงๆ มันเป็นอย่างไร หรือแค่เอกชนเจอโรคระบาดจนอยู่ไม่ได้ ภาครัฐก็เลยต้องเข้ามาทำหน้าที่แทน
จากเหตุ โรคระบาดแห่งจัสติเนียน ทำให้จักรวรรดิไบแซนไทน์อ่อนแอลง จำนวนประชากรที่ลดลง ทำให้แรงงานขาดแคลน ค่าแรงพุ่งสูงขึ้น
แต่ทางไบแซนไทน์ ก็มีนโยบายที่เปิดกว้าง รับชนเผ่าต่างๆ เข้ามาใช้แรงงานในเมือง และมีการจ้างทหารรับจ้าง เพื่อเอาไว้ช่วยยามศึกสงคราม
ซึ่งหลังจาก ช่วง ค.ศ. 600 จักรวรรดิไบแซนไทน์ ก็เจอศึกสงครามอีกมากมาย
แถมด้วยโรคระบาดที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง “ความตายสีดำ” หรือ Black Death ช่วงปี ค.ศ. 1347-1453 ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตรอบนั้นถึง 200 ล้านคนภายในเวลา 4 ปี
บทสรุป จักรวรรดิไบแซนไทน์ อันยิ่งใหญ่ ต้องล่มสลาย ด้วยน้ำมือของชาวออตโตมัน ใน ค.ศ.1453 ด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในตอนนั้นคือ ปืนใหญ่อันทรงพลัง แค่จะยกกระสุนปืนใหญ่ 1 ลูกต้องใช้แรงวัว 100 ตัว และแรงคน 100 คน
ปืนใหญ่
โดยกองทัพชาวออตโตมัน ยิงปืนใหญ่ทำลายกำแพงเมืองคอนสแตนติโนเปิ้ล ที่ยาวกว่า 6 กิโลเมตร สูง 20 เมตร ลงอย่างราบคาบ
ที่น่าทึ่ง ก็คือ ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโรมันทั้งตะวันตกและตะวันออก ที่ครองความยิ่งใหญ่มารวมกันมากกว่า 1,500 ปี คือ เหมือนจะล่มสลาย แต่ก็ยังอยู่ได้หลายร้อยปี
โดยสกุลเงินทั้ง Aureus และ Solidus เป็นเงินสกุลหลักของโลกในช่วงนั้น
นอกจากนี้ ชาวโรมัน และไบแซนไทน์ ยังสร้างศิลปะ วัฒนธรรม และวิทยาการสำคัญไว้มากมาย โดยความรุ่งเรืองของยุค Renaissance ในยุโรป ส่วนหนึ่งก็มาจากนักปราชญ์ชาวกรีก จากอาณาจักรไบแซนไทน์ นี่แหล่ะ
ซึ่งเราจะติดตามกันในตอนหน้า กับการพาทัวร์เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) และสกุลเงิน Fiorino
════════════════
ผู้นำเข้า ส่งออก หาขนส่งมืออาชีพ
นึกถึง ZUPPORTS
════════════════
ที่มา:
https://courses.lumenlearning.com/suny-hccc-worldhistory/chapter/justinian-and-theodora/
https://victorytale.com/th/justinian-plague/
https://en.wikipedia.org/wiki/Justinian_I
The Decline of the Ancient World
https://historycollection.co/7-reasons-byzantine-empire-lasted-long/
https://www.hfocus.org/content/2014/08/7906
http://anuwa222.blogspot.com/2017/12/blog-post_1.html
JUSTINIAN AND CHINA: CONNECTIONS BETWEEN THE BYZANTINE EMPIRE AND CHINA DURING THE REIGN OF JUSTINIAN I
👫 พิเศษสุด! “นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า Marketplace”
สำหรับเพื่อนๆ นำเข้า ส่งออก เชิญค้าขายกันได้เลย
https://www.facebook.com/groups/573677150199055/?source_id=416086589242286
❤️ ช่วย SMEs ก้าวไกลไปทั่วโลก
👫 ร่วมกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้า–ส่งออก