ZUPPORTS 101 : สองคำที่ทำทุกคนสับสน DEMURRAGE & DETENTION !!!

ZUPPORTS 101 : สองคำที่ทำทุกคนสับสน DEMURRAGE & DETENTION !!!

เชื่อไหมว่า ในสายงานนำเข้า-ส่งออก โดยเฉพาะในส่วนงานที่เป็นฝั่งขนส่งทางเรือตู้สินค้า จะมีคำศัพท์สั้นๆ แค่เพียงสองคำ แต่สามารถสร้างความมึนงง ระดับ 8 กะโหลกให้กับใครหลายคน !!!
.
โดยเฉพาะ กับบรรดาน้องใหม่หลายคน ที่มักสงสัยว่า ไอ้เจ้าคำว่า Demurrage & Detention มันคืออะไร เหตุใด เราจึงมักจะได้เจอ ได้เห็น เจ้าสองคำนี้อยู่บ่อยๆ เวลาที่ทำงาน หรือได้ยิน จาก เซลล์สายเรือบอกว่าให้ Free Time ต้นทาง 7/3 และให้ Free Time ที่ปลายทาง 3/7 เวลาที่ไล่เช็คค่าเฟรท
.
และยังเชื่ออีกว่า เพื่อนๆ หรือท่านผู้ประกอบการหลายคน ที่เพิ่งเริ่มต้นในเส้นทางนี้ ไม่เว้นแม้แต่หลายคนในวงการ ที่ยัง งงงวย กับ ชุดตัวเลขที่ว่า และมีจำนวนไม่น้อย ที่ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้น เพียงเพราะนับไอ้เจ้าสองคำที่ว่าผิดวัน !!!
.
แล้วเจ้าสองคำนี้ มีผลอย่างไรกับชีวิตหรืองานของเราบ้าง วันนี้ เรามาทำความเข้าใจไอ้เจ้าสองคำนี้แบบง่ายๆ ให้เห็นภาพ ตามแบบฉบับของ ZUPPORTS กันเลย !!!
.
ก่อนอื่น เราต้องแบ่งแยกงานของเรา ออกเป็น 2 รูปแบบก่อน คือ 1.คนที่ทำงานขาออก และ 2.คนที่ทำงานขาเข้า เนื่องจากบ่อยครั้ง คนที่ต้องทำงานแบบดูทั้งสองขา ความจำในหัวมักจะตีกันเอง !!!
.
สำหรับคนที่ทำงานขาออก เราต้องระลึกไว้เสมอว่า งานขาออก มันคือการไปรับตู้สินค้าเปล่าๆ(Empty Container) มาเพื่อทำการบรรจุสินค้าให้เป็นตู้หนัก (Laden Container) จากนั้น ทำการดันเจ้าตู้หนักนี้ขึ้นเรือ เพื่อทำการส่งออกไปต่างประเทศ
.
ในกรณีงานขาออกนี้ จะเห็นว่ากิจกรรมแรกที่เกิดก่อน คือการไปรับตู้สินค้าเปล่าๆจากลานหรือสถานที่เก็บตู้ ตามที่สายเรือระบุบนหน้า Booking Confirmation ซึ่ง ทันทีที่เราไป CY Empty หรือ ลากตู้เปล่าออกมา นั่นคือเริ่มนับ Day 1 กับการเกิดของไอ้เจ้าคำว่า Detention !!!
.
และนั่นหมายถึง เจ้าตู้เปล่าใบที่รับออกมาจะอยู่กับเราได้ตามจำนวนวันที่คุณเซลล์สายเรือบอก เช่น ให้เรา Free 7 Days Detention ต้นทาง นั่นคือ เรานำตู้เปล่าที่ลากออกมา จะเอามาโหลดสินค้าก็ได้ หรือจะเอามาตั้งโชว์ในโรงงานก้ได้ ได้เป็นเวลา 7 วัน และต้องนำกลับไปคืนที่ท่าเรือ (หรือ นำตู้เปล่าไปคืนลานตู้ที่รับมาในกรณีที่ไม่มีการส่งออก (Shipment Cancel))
.
จากนั้น เมื่อเราทำการรับตู้เปล่าที่ว่าไปโรงงานหรือโกดังของเราเพื่อทำการบรรจุสินค้าเป็นที่เรียบร้อย ทำการปิดผนึกซีลตู้ ส่งงานให้พี่หัวลาก ทำการเอาตู้สินค้าหนักไปลงท่าเรือเพื่อการส่งออก ทันทีที่ตู้สินค้าหนักของเราถูกยกจากหางลงสู่พื้นของท่าเรือ นั่นคือการเริ่มนับ Day 1 ของไอ้เจ้าคำว่า Demurrage และเป็นการสิ้นสุดการนับ Detention Time
.
ซึ่งหากเราทำการทบทวนถึงคำพูดคุณเซลล์สายเรือที่ว่า ให้ Free 3 Days Demurrage ต้นทาง นั่นหมายถึง เราสามารถนำตู้สินค้าหนักที่มีสินค้าบรรจุ ไปทำการคืนลงที่ท่าเรือ ได้เป็นเวลา 3 วันนับจากวันเรือออก โดยไม่มีค่าใช่จ่าย (ซึ่งคำว่า 3 วันที่ว่านั้น อย่าลืมว่าต้องนับรวมวันที่เรือออกด้วยเสมอ)
.
ในขณะที่คนที่ทำงานฝั่งขาเข้า เราต้องนึกภาพก่อนว่า งานขาเข้า มันคือการส่งพี่หัวลากไปที่ท่าเรือ เพื่อไปรับตู้สินค้าหนักที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จากนั้น ทำการลากเจ้าตู้หนักที่มีสินค้าของเราที่ว่า มาทำการเปิดถ่ายสินค้าออกที่โกดังหรือโรงงานของเรา ก่อนที่จะทำการนำตู้สินค้าเปล่าๆที่ไม่มีสินค้าหลงเหลือ กลับไปคืนให้กับสายการเดินเรือ ตามสถานที่ที่เขากำหนด
.
ดังนั้น ถ้าคุณเซลล์สายเรือบอกว่า งานขาเข้าเมืองไทย ให้ Free 3 days Demurrage และ Free 7 days Detention นั่นหมายถึง เราต้องทำการรีบปล่อยงานพี่หัวลาก ไปทำการรับตู้สินค้าหนักที่มีสินค้าของเรา ออกมาจากท่าเรือภายในเวลา 3 วัน นับจากวันที่เรือเข้าประเทศไทย เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่าย
.
เมื่อวินาทีที่ตู้สินค้าหนักของเรา ถูกยกจากพื้นท่าเรือขึ้นสู่หางพี่หัวลากและออกจากเขตท่าเรือ นั่นหมายถึง เป็นการเริ่มต้นการนับ Day 1 ของ Detention Time ขาเข้า และเป็นการ สิ้นสุดการนับ Demurrage Time สำหรับงานขาเข้าทันที
.
จากนั้น เราทำการลากตู้หนักที่ว่า มาทำการเปิดที่โรงงานหรือโกดังของเราเพื่อทำการถ่ายสินค้าออก โดยต้องนึกถึงคำพูดคุณเซลล์สายเรือไว้เสมอว่า ได้ Free 7 days Detention
.
นั่นหมายถึง เมื่อเสร็จสิ้นการถ่ายสินค้าของเราที่นำเข้ามาออกหมดแล้ว เราต้องเร่งรีบนำตู้สินค้าเปล่าๆ กลับไปคืนให้กับสายการเดินเรือ ตามลานหรือสถานที่ที่เขาระบุในใบมัดจำตู้ ภายใน เวลา 7 วัน จึงถือว่าสิ้นสุด Detention Time ของขาเข้า
.
ซึ่งงานทั้ง 2 ขา ที่เล่ามานั้น ถ้ามองให้ดี มันคือโลกในกระจก ที่สมมาตรกันพอดีระหว่างงานขาออกและงานขาเข้า ต่างกันแค่ว่ากิจกรรมการเกิดก่อนหลังเท่านั้น เช่น งานขาออก จะเกิด Detention ซึ่งเป็นส่วนของตู้สินค้าก่อน และตามด้วย Demurrage ซึ่งคือส่วนของท่าเรือ
.
ในขณะที่งานขาเข้า จะเกิด Demurrage ซึ่งคือส่วนของท่าเรือก่อน จากนั้นจึงเกิด Detention ที่เป็นส่วนของตู้สินค้า ซึ่งหลักการจำง่ายๆ ที่หลายคนมักแนะนำ คือให้จำว่า Detention คือค่าใช้จ่ายของตู้ และ Demurrage เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการวางในท่าเรือ
.
ดังนั้น หากเราสามารถเห็นภาพจำลองการทำงานในสองมุม สองขาที่ต่างกันระหว่างงานขาเข้าและงานขาออก เชื่อว่าหลายคนจะเบาบางความสงสัยลงพอสมควร !!!
.
Tips : จำง่ายๆงานขาออก Detention เป็นพี่เนื่องจากเกิดก่อน ขณะที่งานขาเข้า Detention จะกลายเป็นน้อง เนื่องจากเกิดหลัง Demurrage
.
Tips : เวลาที่ทำการสอนรุ่นน้อง ในการนับ Free time อย่าง Demurrage and Detention ควรมีอุปกรณ์ข้างกายในการช่วยอย่าง ปฏิทิน และนิ้วมือ 10 นิ้วเสมอ
.
Tips: การนับ Demurrage เพื่อหา วันแรกในการคืนตู้หนักในท่าเรือแบบไม่มีค่าใช้จ่าย หรือ First date to return laden without charge สำหรับงานขาออกนั้น ควรคาดคะเนเวลาให้สัมพันธ์กันกับ Closing Time ด้วยเสมอ
.
Tips : กรณีที่เรือมีการเปลี่ยนแปลงวันเรือออก หรือ Delay Onboard ต้องทำการตรวจสอบและนับ Demurrage ถอยตามวันที่เรือออก หรือ On Board ใหม่เสมอ
.

ผู้นำเข้า ส่งออก ใช้ระบบ  ZUPPORTS จองเฟรท

พร้อม Cargo Tracking ได้กว่า 100 สายเรือ

สนใจใช้บริการ zupports.co/register

.
เพื่อนๆ อยาก update ข่าวสาร ถาม-ตอบ เรื่องขนส่งระหว่างประเทศ นำเข้าส่งออก ก็ติดตาม Line openchat “ZUPPORTS POST”
ได้ที่ https://bit.ly/3seJRLk

ข่าวสารอื่นๆ